วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เป็นลักษณะตามธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง คือมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป(อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เปลี่ยนแปลงไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้) อยู่ทุกขณะ ตัวอย่าง ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของแต่ละประจุ แต่ละขณะ อย่างรวดเร็ว จนเป็นเป็นปรากฏการณ์ฟ้าผ่า ชีวิตของมนุษย์ ก็เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นการส่งผ่านของพลังงานแต่ละขณะ เช่นพลังงานแสง พลังงานเสียง และพลังงานอื่นๆ แต่ละขณะจึงเป็นการเกิดดับ อย่างสมบูรณ์แต่ละขณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ในสัจธรรม อดีตจึงไม่มี

แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าอดีตไม่มี? ถามว่าสิ่งที่เห็นในอดีต ทำให้เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่ ตอบว่าไม่ เพราะ สิ่งเดียวกันที่เห็น คนหนึ่งกับบอกว่าสุข คนหนึ่งกลับบอกว่าทุกข์ คนหนึ่งอาจบอกว่าเป็นสิ่งนั้น คนหนึ่งกลับบอกว่าเป็นสิ่งนี้ คนหนึ่งบอกว่าเป็นเพียงธาตุ 4 คนหนึ่งบอกว่าเป็นพลังงานแสงเท่านั้น คนหนึ่งบอกว่าสิ่งนั้นไม่มี จึงได้ข้อสรุปว่า ทุกสิ่งเกิดจากการปรุงแต่งของจิตเท่านั้น จิตที่ปรุงแต่งความบริสุทธิ์ของพลังงานให้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

เมื่อแจ้งในไตรลักษณ์แล้ว ทุกข์ในขันธ์ 5 ก็จะลดลง น้อยลง จนถึงขั้นหมดไป เพราะเมื่ออดีตดับไปอย่างสิ้นเชิงด้วยจิตที่รู้ในไตรลักษณ์ แล้ว จะเอาอะไรมาเทียบให้เป็น สุข หรือทุกข์ เป็น สิ่งนั้น สิ่งนี้ ที่เหลือก็เพียง การกระทบของพลังงานที่บริสุทธิ์ โดยปราศจากความรู้ แต่เต็มไปด้วยสติ เป็นการกระทบตามธรรมชาติ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปแต่ละขณะ ตามธรรมชาติ (เข้าถึงความเป็นปรมัตถธรรม)

เมื่อเรามีความปรารถนา ในการเห็น เราจึงมีพลังแสง
เมื่อเรามีความปรารถนา ในการได้ยิน เราจึงมีพลังงานเสียง
เมื่อเรามีความปรารถนา ในการรู้กลิ่น รู้รส เราจึงมีพลังงานในรูปแบบต่างๆ
เมื่อเรามีความปรารถนา ในการสัมผัส เราจึงมีธาตุ 4
เมื่อเรามีความปรารถนาครบทั้งหมดเช่นนี้ จึงส่งผลให้ เราต้องมาอยู่บนโลกมนุษย์ ที่มีความปรารถนาในขันธ์ทั้ง 5 และ ธาตุ 4 ร่วมกัน

เมื่อเราหมดความปรารถนา ในการเห็น เราจะ มีเพียงพลังงานเสียง พลังงานในรูปต่างๆ และพลังงานกล(การสัมผัส)
เมื่อเราหมดความปรารถนา ในการเห็น การได้ยิน เราจึง มีเพียงพลังงานในรูปแบบต่างๆ และและพลังงานกล(การสัมผัส)
เมื่อเราหมดความปรารถนา ในการเห็น การได้ยิน ในการรู้กลิ่น รู้รส เราจึง มีเพียงพลังงานในรูปแบบและพลังงานกล(การสัมผัส)


แล้วทำไมเราจึงมีขันธ์ 5 และธาตุ 4 ที่เป็นทุกข์?

ก็เพราะเรามีความปรารถนา ในขันธ์ 5 และธาตุ 4 ความปรารถนานี้เกิดจากอวิชชาความไม่รู้ของจิด คือความไม่รู้ในความเป็นไปในสัจจธรรม ของชีวิต ว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ของเรา มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น (คือการไม่แจ้งในไตรลักษณ์ และปรมัตถธรรมนั้นเอง) จึงก่อให้เกิด การปรุงแต่งในพลังงานที่เกิดดับอย่างบริสุทธิ์ และเกิดการสร้างพลังงานด้วยจิตที่ไม่แจ้งในไตรลักษณ์ อยู่ตลอดเวลา

และความไม่รู้ว่าชีวิตเป็นเพียงปรากฏธรรมชาติ ตกอยู่ภายใต้ครรลองของพลังงาน นี้เอง
ที่ก่อให้เกิดความกลัว ทั้งที่จริง ตามครรลองของพลังงานแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อะไรจะไม่เกิดก็จะไม่เกิด แต่เพราะความไม่รู้ นี้ จึงก่อให้เกิดการปรุงแต่ง เพื่อให้ได้มา และเพื่อหลบเลี่ยง ซึ่งทำไปก็เท่านั้น
อะไรจะเกิดหากเป็นไปตามครรลองของพลังงานแล้วมันก็ต้องเกิด
อะไรไม่อยากให้เกิด หากเป็นไปตามครรลองของพลังงานแล้วมันก็จะไม่เกิด

ดังนั้น เมื่อแจ้งในไตรลักษณ์บ้างแล้ว เราก็จะมีความกล้าหาญ ในคามเป็นไปของชีวิตเพิ่มมากขึ้น

และเมื่อแจ้งในไตรลักษณ์บ้างแล้ว ความปรารถนาในรูปแบบต่างๆ ลดน้อยลง ควรหมั่นพิจารณาอยู่เรื่อยๆ
เมื่อจิตไม่หวนถึงอดีต อยู่กับปัจจุบัน รับและทุกสรรพสิ่ง ด้วยความบริสุทธ์ตามธรรมชาติ ปราศจากการปรุงแต่ง ความรู้ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ซึ่งแท้จริงชีวิตก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ขอให้รู้ “ มีจุดต่อมแห่งผู้รู้เมื่อใด นั่นและคือตัวทุกข์”

แต่เมื่อเราพยายามศึกษาไตรลักษณ์ ในขณะที่ยังมีธาตุ 4 และขันธ์ 5 อยู่ จะทำอย่างไร?

จิตบริสุทธ์เป็นธรรมชาติก็อยู่ส่วนจิต ส่วนธาตุ 4 และขันธ์ 5 ก็ปล่อยให้เป็นไปตามความธรรมชาติของมันตามการเกิดดับของพลังงานแต่ละขณะ

วิธีทำสมาธิเยี่ยมและเกิดปัญญา



1. อย่างแรกที่คุณต้องมีคือ ศีล 5 นั้นต้องบริสุทธิ์ เพราะศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิ
2. เดินจงกรม ก่อนเสมอ ที่จะนั่งสมาธิ พระพุทธเจ้าสอนให้เดินจงกรมก่อน สมาธิจึงจะดี ถ้าไม่เดินจงกรมก่อน สมาธิไม่ดี ปัญญาไม่เกิด 
เดินจงกรม 50 นาที นั่งวิปัสนากรรมฐาน 50 นาที แบบนี้กำลังดีเลย
3. การนั่งวิปัสนากรรมฐาน

ยกตัวอย่างการนั่งวิปัสนากรรมฐานโดยภาวนาว่าพองหนอ ยุบหนอ 

วิปัสนากรรมฐานนั้นเอารูปและนามเป็นอารมณ์ หรือขันธ์ 5

ได้แก่

1.รูป ท้องที่พอง ยุบ นี้เป็นรูป
2.เวทนา เวลาหายใจเข้าแล้วรู้สึกสบาย นี้เป็นสุขเวทนา รู้สึกไม่สบายนี้เป็น ทุกข์เวทนา รู้สึกเฉยๆๆนี้เป็นอุเบกขาเวทนา
3.สัญญา จำได้ว่าท้องพอง ท้องยุบนี้เป็นสัญญา
4.สังขาร แต่งให้พองสั้น พองยาว พองมาก พองน้อย นี้เป็นสัขขาร
5.วิญญาณ ใจที่รู้นี้เป็นวิญญาณ


ถามว่า กิเลสเกิดที่ไหน เวลาหายใจเข้าแล้วรู้สึกสบายนี้โลภะเกิด เวลารู้สึกไม่สบายนี้โทสะเกิด เวลารู้สึกเฉยๆนี้โมหะเกิด
ทำอย่างไรจึงจะระงับกิเลสได้ก็ต้องกำหนดรู้ ทันอารมณ์ปัจจุบัน เช่น ภาวนาว่าพองหนอแล้วท้องยังไม่พองนี้ก็ถือว่าไม่ทันปัจจุบัน หรือท้องพองก่อนแล้วมาภาวนาที่หลัง
นี้ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ ต้องไปพร้อมๆๆกันกิเลสจึงจะขาด 

การกำหนดรู้นั้นต้องประกอบไปด้วยองค์ 3 ได้แก่

1.อาตาปี ความเพียร
2.สติ ความระลึกรู้ 
3.สัมปชัญญะ รู้ตามความเป็นจริง รู้ทันอารมณ์ปัจจุบัน
ถามว่าตรงไหนเป็นศีล

ขณะที่กำหนดรู้ทันอารมณ์ปัจจุบันนี้เป็นศีลในองค์มรรค ทำไมจึงเป็นเพราะขณะกำหนดพองหนอ-ยุบหนอนี้ กายกรรม 3 วจีกรรม 4 ของเราบริสุทธิ์

ตรงไหนเป็นสมาธิ

ขณะที่กำหนดรู้ทัน ตั้งสติมั่นอยู่ที่อารมณ์กรรมฐานนี้เป็นสมาธิแล้ว

ตรงไหนเป็นปัญญา

รู้รูป รู้นาม รู้สภาวะธรรมที่กำหนดนี้เป็นปัญญา
มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง

กลางอยู่ที่ไหน กลางอยู่ที่การกำหนดรู้ทันอารมณ์ปัจจุบัน กลางอยู่ที่ปัจจุบันคือทันกัน

ขันธ์ 5 เกิดที่ไหนกิเลสเกิดที่นั้น เมื่อสติกำหนดรู้ทันแล้วนั้นคือ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง กลางอยู่ที่ขันธ์ 5

ขั้นธ์ 5 เป็นสนามรบของกิเลสเมื่อใดไม่กำหนด เผลอกิเลสมันเข้า เมื่อใดที่เรามีสติกิเลสเข้าไม่ได้

ดังนั้นขันธ์ 5 เป็นทางสายกลาง 

มรรค 8 คือศีล สมาธิ ปัญญา กับ กิเลสแย่งกันอยู่ตรงนี้


บางคนเข้าใจว่า พองหนอ-ยุบหนอไม่ใช่วิปัสนาถูกต้อง

ถ้าเป็นวิปัสนา วัว ควายก็มีท้องพอง ท้องยุบ มันก็ทำกรรมฐานอยู่นะซิ 

แล้วจะทำอย่างไรพองหนอ-ยุบหนอจึงจะเป็นวิปัสนา 

ดังนั้นเราจะต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า วิปัสนาคืออะไร

วิแปลว่าแจ้ง ปัสนาแปลว่าเห็น 

เห็นอะไร 1.เห็นรูปเห็นนาม 2.เห็นปัจจุบัน 3.เห็นพระไตรลักษณ์ 4.มรรคผลนิพพาน

วิปัสนานั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ ตอบมี ขันธ์ 5 คือรูปกับนามเป็นอารมณ์

ที่เรากำหนดก็มีรูป - มีนามเป็นอารมณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ดังนั้นเราต้องลงมือกำหนดรู้ ทันอารมณ์ปัจจุบันกิเลสจึงจะขาดไปถึง 7 ชาติ 
พร้อมด้วยองค์ 3 จึงจะเป็นวิปัสนากรรมฐาน

ขันต์5


เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ 5
เบญจขันธ์ หมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นชีวิต
ขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
1. รูปขันธ์ กองรูป ส่วนที่เป็นรูป ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่าง ๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด
2. เวทนาขันธ์ กองเวทนา ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์ ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ
เมื่อรับรู้เกิดความพอใจ มนุษย์เรียกว่า สุข เมื่อรับรู้เกิดความไม่พอใจ มนุษย์เรียกว่า ทุกข์ เมื่อรับรู้แล้วไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า อุเบกขา
3. สัญญาขันธ์ กองสัญญา ส่วนที่เป็นความกำหนดหมายให้จำอารมณ์นั้น ๆได้ ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่น เสียงดัง รูปสวย กลิ่นหอม รสหวาน ร้อน และดีใจ
4. สังขารขันธ์ กองสังขาร ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ คุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต
5. วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์ ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6
อายตนะแปลว่า บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์ บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์ ของอายตนะทั้งสองแล้วเกิดอารมณ์ขึ้น อายตนะมีตาเป็นต้น เมื่อสัมผัสกับรูปแล้ว ก็ติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงประสาทเข้ามาหาใจ แล้วใจก็รับเอามาเป็นอารมณ์ ถ้าดีก็ชอบใจ สนุก เพลิดเพลิน ถ้าไม่ดีก็ไม่ชอบใจ คับแค้นเป็นทุกข์โทมนัสต่อไป
อายตนะ ประกอบด้วย อายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอ 6
 หูที่เสียงดังมากระทบเรียกว่า โสตวิญญาณ
ตาที่เห็นวัตถุรูปเรียกว่า จักษุวิญญาณ
จมูกที่ดมกลิ่นสารพัดทั้งปวงเรียกว่า ฆานวิญญาณ
ลิ้นที่รับรสทุก ๆ อย่างที่มาสัมผัสเรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
กายที่ถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งอันจะรู้ได้ทางกายเรียกว่า กายวิญญาณ
ใจ ความรู้สึกนึกคิดในอารมณ์นั้น ๆเรียกว่า มโนวิญญาณ
        
อายตนะทั้ง 6 นี้ย่อมรับทำหน้าที่แต่ละแผนก ๆ ไม่ปะปนกัน เช่นตารับทำหน้าที่แต่เฉพาะไว้ดูรูปเท่านั้น ให้หูดูแทนไม่ได้เด็ดขาด จึงเรียกว่าเป็นใหญ่ในหน้าที่นั้น
ฉะนั้นเมื่อพูดถึงอายตนะภายใน 6 แล้ว ขอกล่าวถึงคู่ของอายตนะภายในไปพร้อม ๆ กัน จึงจะเห็นประโยชน์ของอายตนะ 6 ที่ว่าเป็นของอยู่ในตัวของเราเรียกว่าอายตนะภายใน สิ่งที่เป็นคู่กับอายตะภายใน เช่น รูปเป็นคู่กับตา เสียงเป็นคู่กับหู เป็นต้น เรียกว่า อายตนะภายนอก
     ถ้าอายตนะภายในตัวไม่มีคู่เช่นมีแต่ตาอย่างเดียวไม่มีรูปให้เห็นก็ไม่มีประโยชน์อันใดเลยหรือมีแต่รูปอย่างเดียวไม่มีตาดูก็จะมีประโยชน์เช่นกัน แต่เมื่อเห็นรูปแล้วย่อมมีทั้งคุณและโทษเหมือน ๆ กับผู้รับผิดชอบการงานในหน้าที่นั้นๆ จะต้องรับผิดชอบทั้งดีและไม่ดี อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกันเข้านี่แหละที่ทำให้เกิดคุณและโทษก็อยู่ที่ตรงนี้
ฉะนั้นอารมณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้งสองนี้จึงเป็นเหมือนกับมิตรและศัตรูไปพร้อม ๆ กัน
แต่มิตรไม่เป็นไรเรายอมรับทุกเมื่อ แต่ศัตรูนี้ซิ ตาเกลียดนักจึงคอยตั้งป้อมต่อสู้มัน
อายตนะภายใน 6 อย่างนี้ เมื่อใครได้มาเป็นสมบัติของตนครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่วิกลวิกาลแล้วจึงนับ ได้ว่าเป็นลาภของผู้นั้นแล้ว เพราะมันเป็นทรัพย์ภายใน อันมีคุณค่ามหาศาล ยากที่จะหาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในท้องตลาดได้ ทรัพย์ภายนอกจะมีมากน้อยสักเท่าไร จะดีหรือจะมีคุณค่า จะมีประโยชน์หรือไม่ หากขาดทรัพย์ภายในแล้ว ก็ไม่สำเร็จผลอะไรเลย
อนึ่งทรัพย์ภายใน 6 กองนี้ มีแล้วใช้ได้ไม่รู้จักหมดสิ้นจนถึงวันตาย เป็นแก้วสารพัดนึกให้สำเร็จความปรารถนาได้ทุกสิ่ง เมื่อได้มาโดยมิต้องลงทุนหรือจะลงทุนบ้างเล็กน้อย แต่ได้ผล ล้นค่า เหมือนกับได้ทิพย์สมบัติ 6 กองอย่างน่าภาคภูมิใจด้วย หากใครได้เกิดมาในโลกนี้ไม่ได้สมบัติ 6 กองนี้ หรือได้แต่ไม่ครบถ้วน ก็เท่ากับเป็นคนอาภัพในโลกนี้ แล้วสมบัติ 6 กองนี้เป็นของผู้ที่เกิดมาในกามโลก บัญญัติธรรมเรียกว่า "กามคุณ 5" เพราะผู้ที่ได้ประสบอารมณ์ 5 นี้แล้วชอบใจ ติดใจ เข้าไปฝังแน่นอยู่ในใจ เห็นเป็นคุณทั้งหมด หากจะเห็นโทษของมันอยู่บ้างบางกรณี แต่ก็ยากนักที่เอาโทษนั้นมาลบล้างคุณของมัน ฉะนั้นเหมาะสมแล้วที่เรียกว่า "กามคุณ"
สรุปแล้วขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น2 คือ รูป และ นาม
รูปขันธ์จัดเป็นรูป และ 4 นามขันธ์ จัดเป็นปรมัตถธรรม 4 = เวทนาขันธ์ 1 สัญญาขันธ์ 1 สังขารขันธ์1 และวิญญาณขันธ์ 1 จัดเป็นจิตหรือ เป็น เจตสิก ส่วนนิพพาน เป็นขันธ์วินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5 สรรพสิ่งทั้งหลายในอนันตจักรวาลนั้น แยกประเภทได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. ส่วนที่เป็นวัตถุทั้งหลาย ( รูปขันธ์ ประกอบด้วย ธาตุ 4 = ดิน น้ำ ลม ไฟ )
สสารและพลังงานทั้งหลาย แสง สีทั้งหลาย เสียง กลิ่น รส ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความหย่อน ความตึง อาการเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ ช่องว่างต่าง ๆ อากาศ ดิน น้ำ ไฟ ลม สภาพแห่งความเป็นหญิง เป็นชาย เนื้อสมองและระบบของเส้นประสาททั้งหลาย อันเป็นฐาน ให้จิตเกิด รวมทั้งอาการแห่งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไปของวัตถุทั้งหลายด้วย
ซึ่งรวมเรียกว่า รูปขันธ์
2. ส่วนที่เป็นความรู้สึกและความคิดทั้งหลาย รวมเรียกว่านามขันธ์ คือ
 ปรมัตถธรรม 4 ได้แก่
    2.1 
เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย ทุกข์ทางกาย โสมนัส(สุขทางใจ) โทมนัส(ทุกข์ทางใจ) อุเบกขาหรือ อทุกขเวทนา อสุขเวทนา เป็นกลางๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์ )
    2.2 
สัญญาขันธ์ คือ ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ คือส่วนที่ทำหน้าที่ในการจำนั่นเอง (ไม่ใช่เนื้อสมอง แต่เป็นส่วนของความรู้สึกนึกคิด เนื้อสมองนั้นจัดเป็นรูปขันธ์ เนื้อสมองเป็นเหมือนสำนักงาน ส่วนนามขันธ์ทั้งหลายเหมือนผู้ที่ทำงานในสำนักงานนั้น)
    2.3 
สังขารขันธ์ คือ ส่วนที่ปรุงแต่งจิต คือสภาพที่ปรากฏของจิตนั่นเอง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทาน(สภาพของจิตที่สละสิ่งต่างๆ ออกไป) ความเมตตา กรุณา มุทิตา สมาธิ ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ท้อถอย ความง่วง ความละอาย ความเกรงกลัว ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว เจตนาในการทำสิ่งต่าง ๆ ความลังเลสงสัย ความมั่นใจ ความเย่อหยิ่งถือตัว ความเพียร ความยินดี ความพอใจ ความอิจฉา ความตระหนี่ ศรัทธา สติ ปัญญา การคิด การตรึกตรอง
    2.4
 วิญญาณขันธ์ หรือ จิต คือผู้ที่รับรู้สิ่งทั้งปวง คือรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ตั้งแต่ เวทนาขัน สัญญาขันธ์ จนถึงสังขารขันธ์ และเป็นผู้รับรู้ถึงส่วนที่เป็นรูปขันธ์ทั้งหลายด้วย อันได้แก่เป็นผู้รับรู้สิ่งทั้งหลาย ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง รวมถึงเป็นผู้รับรู้ในสภาวะแห่ง นิพพาน ด้วย
3. นิพพาน คือ สภาวะที่พ้นจากรูปขันธ์และนามขันธ์ทั้งปวง
หรือสภาวะจิตที่พ้นจากความยึดมั่นผูกพันในสิ่งทั้งปวง รวมถึงไม่ยึดมั่นในนิพพานด้วย
    นิพพาน = นิ + วาน (ในภาษาบาลีนั้น ว. กับ พ. ใช้แทนกันได้ วาน จึงเท่ากับ พาน)
    นิ = พ้น
    วาน = สิ่งที่เกี่ยวโยงไว้ ได้แก่ 
ตัณหา คือ ความทะยานอยากและอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง
นิพพาน แปลตามตัวจึงหมายถึงความพ้นจากเครื่องเกี่ยวโยง(ตัณหาและอุปาทาน) นั่นเอง
สรุปแล้วขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
โดยท ี่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ รวมเรียกว่า
เจตสิก ซึ่งแปลว่าเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตเสมอ จิตและเจตสิกจะเกิดและดับพร้อมกันเสมอ จะแยกกันเกิดไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพียงแต่ว่าตอนนั้นนามขันธ์ตัวไหนจะแสดงตัวเด่นกว่าตัวอื่นเท่านั้นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คำแนะนำการฝึก


คำแนะนำการฝึกมโนมยิทธิ

โดย หลวงพ่อพระมหาวีระ ถาวโร
            ต่อไปนี้จะขอแนะนำเนื่องในการเจริญมโนมยิทธิ คำว่า มโนมยิทธิ นี่เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่งในกรรมฐาน ๔๐ เพราะกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้มี ๔๐ แบบ แล้วก็ ๔๐ แบบ ถ้าแบ่งเป็นหมวดก็ ๔ หมวด คือ
            หมวดที่ ๑ สุขวิปัสสโก
            หมวดที่ ๒ เตวิชโช
            หมวดที่ ๓ ฉฬภิญโญ
            หมวดที่ ๔ ปฏิสัมภิทัปปัตโต

            หมวดที่ ๑ ที่เรียกว่า สุขวิปัสสโก ท่านแปลว่า บรรลุมรรคผลได้อย่างแบบง่าย ๆ แต่ความจริงแล้วไม่ง่าย ยากมากแบบสุขวิปัสสโกนี่เวลาเจริญสมาธิตามที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททำอยู่ตามปกติ เป็นการทำจิตให้เป็นสมาธิเข้าถึงฌานสมาบัติ แล้วก็ตัดกิเลส ไม่สามารถจะเห็นผี เห็นนรก เห็นเทวดา เห็นสวรรค์ได้ คือไม่มีทิพจักขุญาณ
            สำหรับ เตวิชโช นั้น มีความสามารถพิเศษอยู่ ๒ อย่าง คือว่ามีทิพจักขุญาณด้วย สามารถระลึกชาติด้วย และก็
            ฉฬภิญโญ (อภิญญาหก) แสดงฤทธิ์ได้ มีหูเป็นทิพย์ มีตาเป็นทิพย์
            ปฏิสัมภิทัปปัตโต มีความสามารถคลุมวิชชาสามและอภิญญาหก มีความฉลาดกว่า
            หมวดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ไม่เหมือนกัน แต่วิธีปฏิบัติคล้ายคลึงกัน เอาในกรรมฐานทั้ง ๔๐ มาแยกปฏิบัติเป็นหมวดหมู่
            ทีนี้สำหรับการปฏิบัติ ถ้าจะถามว่าอย่างไหนเข้าถึงมรรคผลง่ายกว่ากัน ก็ต้องเป็นไปตามอัธยาศํยของบรรดาท่านพุทธบริษัท
            สำหรับ สุขวิปัสสโก พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับผู้ที่ต้องการเรียบ ๆ ไม่ต้องการฤทธิ์เดช ทำแบบสบาย ๆ จิตใจไม่ชอบจุกจิก
            สำหรับ เตวิชโช นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับคนที่อยากรู้อยากเห็น ถ้ามีสิ่งปิดบังลี้ลับอยู่ ทนไม่ไหว ต้องหาให้พบ ค้นให้เห็น
            สำหรับ ฉฬภิญโญ นั้น สำหรับคนที่ต้องการมีฤทธิ์เดชพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้
            สำหรับ ปฏิสัมภิทาญาณ หรือปฏิสัมภิทัปปัตโต ท่านมีทั้งฤทธิ์ด้วย มีทั้งความเป็นทิพย์ของจิตด้วยมีความฉลาดด้วย สอนไว้เพื่อคนที่ต้องการรอบรู้ทุกอย่าง
            ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จึงเป็นไปตามอัธยาศัยของคน
            สำหรับวันนี้จะนำเอาคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่วนหนึ่งที่เรียกว่า มโนมยิทธิ มาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท
            มโนมยิทธิ นี่คล้ายคลึงกับ เตวิชโช แต่ว่ามีกำลังสูงกว่า เป็นกรรมฐานเพื่อนเตรียมตัวที่จะปฏิบัติเพื่อ อภิญญาหก ต่อไปข้างหน้า
            สำหรับ เตวิชโช ก็ได้แก่ วิชชาสาม ก็มีทิพจักขุญาณ ซึ่งต่างกับ มโนมยิทธิ คือว่าท่านที่ได้ทิพจักขุญาณแล้วนั่งอยู่ตรงนี้ สามารถจะเห็นเทวดาหรือพรหมได้ สามารถจะคุยได้ แต่ไปหาไม่ได้ สามารถจะเห็นสัตว์นรก เห็นเปรต เห็นอสุรกายได้ แต่ว่าไม่สามารถจะไปหากันได้ เห็นอย่างเดียว
            สำหรับมโนมยิทธิ ใช้กำลังของจิตเคลื่อนออกจากกายไปสวรรค์ก็ได้ ไปพรหมโลกก็ได้ ไปนิพพานก็ได้ ซึ่งมีกำลังสูงกว่า ทั้งนี้เพราะว่าถือเป็นส่วนหนึ่งของอภิญญาสมาบัติ
            สำหรับประโยชน์ที่จะฝึกพระกรรมฐาน นอกจากที่บรรดาท่านพุทธบริษัทจะเข้าใจว่าการเจริญกรรมฐานนี้ต้องการสวรรค์ ต้องการพรหมโลก ต้องการนิพพานอย่างเดียว ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น มีประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม
            ถ้าทุกท่านได้มโนมยิทธิแล้วก็ไปฝึกฝนให้คล่อง เมื่อฝึกฝนคล่องแล้ว นอกจากจะยกจิตขึ้นไปสู่ภพต่าง ๆ ก็ยังมีคุณสมบัติ ๘ ประการ คือ
            ทิพจักขุญาณ สามารถจะเห็นสิ่งของที่อยู่ในที่ลี้ลับได้ เห็นผีได้ เห็นเทวดาได้ เห็นนรก เห็นสวรรค์ได้ ของที่เราเก็บไว้ในที่ลี้ลับหาไม่พบเราก็สามารถเอาจิตเข้าไปกำหนดรู้ได้ หรือว่าใครจะแอบแฝงอยู่ที่ไหนเราก็ทราบได้ ถ้าเราต้องการจะรู้ รวมความว่าไม่มีอะไรเป็นความลับสำหรับพวกที่มีทิพจักขุญาณ
            และถ้าหากว่าจะใช้ทิพจักขุญาณนี้ประกอบอาชีพ ถ้าทิพจักขุญาณมีความเข้มข้นขึ้น เข้าถึงฌาน ๔ และก็ได้ อดีตังสญาณ อนาคตังสญาณ มันจะได้ไปเอง ถ้าเราจะประกอบอาชีพเราก็สามารถจะรู้ได ้ว่า อาชีพที่เราประกอบข้างหน้ามันขาดทุนหรือกำไรจะทำอะไรก็ได้
            ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษา ถ้ามีกำลังจิตเข้มข้นจริง ๆ สามารถจะเดาข้อสอบ (ไม่ต้องเดาละดูเลย ดูข้อสอบเลย ก่อนที่ครูจะเขียนน่ะ) อนาคตังสญาณ จะสามารถรู้ข้อสอบที่ครูจะออกมาได้ ถ้าหากว่าจิตยังคล่องไม่ถึง มีความเข้มข้นไม่ถึงเวลาจะสอบถ้าตอบไม่ได้ตัดสินใจใช้กำลังสมาธิช่วยสัก ๒ นาที คิดว่าถ้าจะตอบยังไงถึงจะถูก ขอให้ตัดสินใจไปตามนั้น มันตัดสินใจเองแล้วก็ถูกต้อง
            อย่างนี้นักเรียนนักศึกษาในกรุงเทพฯ ใช้มาหลายพันคนแล้ว เวลาเข้ามาหาวิทยาลัยเธอตอบไม่ได้เธอก็เดาอย่างนี้ แต่ไม่ใช่เดานะ เดาเฉย ๆ ไม่ได้นะ ต้องใช้กำลังใจที่เขาเรียกว่าทำจิตเข้าไปถึงนิพพานก่อนและก็นั่งอยู่ที่นั่น ขอพระพุทธเจ้าว่าจะตอบอย่างไร ตัดสินใจไปตามนั้น อย่าถามท่านไม่ได้นะ ถามท่านไม่บอกแต่ว่าจะรู็ด้วยกำลังของจิตที่เป็นทิพย์
            แบบนี้เขาใช้กันเยอะแล้ว ถ้าจะถามว่าได้หรือ นี่มันสายไปแล้ว เขาทำได้มากแล้ว อันนี้เป็นประโยชน์ในทางโลก ใช้ได้มากกว่านี้
            เมื่อกี้พูดถึงทิพจักขุญาณ และก็ญาณที่ ๒ ที่จะได้จากมโนมยิทธิก็คือ จุตูปปาตญาณ
            จุตูปปาตญาณ ที่เขาบอกว่าจะรู้เห็นคนหรือสัตว์ หรือ ว่าได้ยินชื่อคนหรือสัตว์ เราสามารถรู้ได้ทันทีว่าคนพวกนี้ก่อนเกิดมาจากไหน ถ้ารู้็ว่าใครเขาตายเขาแจ้งว่าคนนั้นตาย สัตว์ตัวนี้ตายเราก็จะทราบได้ว่าผู้ตายผู้นี้เวลานี้ไปอยู่ที่ไหน อันนี้เขาเรียกว่า จุตูปปาตญาณ
            แล้วก็ต่อมาเป็น ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ การระลึกชาติ สามารถจะทบทวนชาติต่าง ๆ ที่เราเกิดมาได้ทั้งหมดว่า เราเคยเกิดมาแล้วกี่ชาติ แต่กี่ชาตินี่นับไม่ไหวนะ ว่าเคยเกิดมาแล้วกี่แสนชาติดีกว่า เคยเกิดเป็นอะไรมาบ้าง เราสามารถจะรู้
            แล้วก็ต่อไป เจโตปริยญาณ เจโตปริยญาณ เขาแปลว่าสามารถรู้อารมณ์จิตของบุคคลอื่น หมายความว่าคนที่นั่งอยู่ที่นี่ก็ดี ถ้ายังไม่มาก็ดี เราจะรู้ว่าเขาคิดอะไร เราสามารถจะรู้ได้ทันที
            และต่อไป อตีตังสญาณ สามารถรู้เหตุการณ์ในอดีตของคนและสัตว์และสถานที่ได้ ว่าก่อนนั้นเขาทำอะไรมาหรือมีสภาพเป็นอย่างไร
            อนาคตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในอนาคต
            ปัจจุปันนังสญาณ ญาณนี้สำคัญมาก รู้กฏของกรรมที่ทำให้คนมีความสุขหรือความทุกข์ เราก็ดี บุคคลอื่นก็ดี ซึ่งกำลังมีความสุขอยู่เพราะผลความดีอะไรให้ผล ที่มีความทุกข์อยู่เพราะความชั่วอะไรให้ผลทำมาแล้วในอดีต ถ้าหากว่ารู้ญาณนี้ได้ความหนักใจความกลุ้มใจไม่มี
            รวมความว่า มโนมยิทธิ นอกจากจะยกจิตไปสู่ภพต่าง ๆ แล้ว ยังมีคุณสมบัติอีก ๘ ประการ และก็พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อุทุมพริกสูตร เฉพาะอย่างยิ่งท่านกล่าวถึง วิชชาสาม ท่านบอกว่า
            ท่านผู้ใดสามารถกระทำจิตไปสู่ภพต่าง ๆ คือว่าไปสวรรค์ก็ได ้ไปนรกก็ได ้ไปพรหมก็ได้ ไปนรกเปรตอสุรกายได้ ชื่อว่าถึงแก่นของพระศาสนา
            เมื่อบุคคลปฏิบัติกิจเข้าถึงแก่นของพระศาสนาแบบนี้ ถ้าปฏิบัติด้านวิปัสนาญาณ ท่านบอกว่า
            ถ้ามีบารมีแก่กล้า จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ วัน
            ถ้ามีบารมีอย่างกลาง จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ เดือน
            ถ้ามีบารมีอย่างอ่อน จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ ปี

            คำว่า บารมี ก็หมายถึง กำลังใจ กำลังใจที่เราจะเอาจริงหรือไม่เอาจริง ถ้าเราใช้กำลังส่วนนี้ไปช่วยวิปัสสนาญาณ หรือนำวิปัสสนาญาณมาใช้ ก็จะเป็น พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์
            และก็เป็นที่น่าเสียดายที่มีกำลังพอแต่ไปใช้กำลังอย่างอื่นอยู่ ถ้ามุ่งต้องการความเป็นพระอริยเจ้าจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าต้องการพระโสดาบันละก็ อย่างช้าก็ไม่เกิน ๑ เดือน ช้ามากเกินไป แต่ว่าคนขี้เกียจก็เร็วมากเกินไป ใช่ไหม ถ้าขี้เกียจ ๑ เดือนนี่ เร็วมากเกินไป ถ้าขยัน ๑ เดือน ช้าเกินไป เร็วมากเกินไป
            พระพุทธเจ้าไม่ได้หมายถึงว่าเป็นพระโสดาบัน ท่านพูดถึงอรหันต์เลย ถ้ามีความเข้มข้นในการปฏิบัติที่เรียกว่ามีบารมีแก่กล้า จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ วัน
            ถ้ามีกำลังใจอย่างกลางที่เรียกว่า อุปบารมี คือกำลังใจอย่างกลาง จะเป็นอรหันต์ภายใน ๗ เดือน
            ถ้าขี้เกียจมากหน่อย แต่ว่าทำไม่เลิก ทำบ้างไม่ทำบ้าง วันหนึ่งก็ไม่เว้นละ ทำมากทำน้อย นอนน้อยทำมาก สลับกันไปอย่างนี้ไม่เกิน ๗ ปี
            แต่ว่าก็มีเยอะเหมือนกัน ที่ได้ไปแล้วไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ใช้เฉพาะกิจส่วนนี้ก็ยังดีกว่า เพราะหายสงสัย
            ที่พระพุทธเจ้าสอนวิชานี้ไว้เป็นวิชาขั้นต้นของ อภิญญา ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงเทศน์บอกว่า
            คนเราตายไปแล้วมีสภาพไม่สูญ ถ้าสร้างผลของความชั่ว ผลของความชั่วจะให้ผล คือไปนรก จากนรกก็ต้องมาเป็นเปรต จากเปรตแล้วก็มาอสุรกาย จากอสุรกายมาเป็นสัตว์เดียรัจฉาน
            สัตว์เดียรัจฉานนี่เป็นนานหน่อย ต้องเสวยบารมีมากฆ่าสัตว์กี่ตัว สัตว์ประเภทใดบ้าง ต้องเกิดเป็นสัตว์ประเภทนั้นเท่าชีวิตที่เราฆ่า ฆ่ายุงไปเท่าไร เอาแค่ยุงอย่างเดียวก็พอมั๊ง
            หลังจากเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานแล้วก็มาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมชั่วที่เราทำไว้จะให้ผลเพียงเศษ เช่น
            ทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือทรมานสัตว์ เป็นปัจจัยให้คนมีอายุสั้น เพราะทำเขาไว้มาก หรือว่าป่วยไข้ไม่สบาย มีร่างกายทุกพพลภาพ สุดแท้แต่กฎของกรรม
            กรรมของอทินนาทาน ลักขโมยยื้อแย่งทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น เป็นเหตุให้ทรัพย์เสียหายจากไฟไหม้บ้าง ลมพัดบ้าง น้ำท่วมบ้าง ถูกโจรลักขโมยบ้าง
            กรรมของกาเมสุมิจฉาจารที่เราละเมิด เป็นเหตุให้คนในปกครองว่ายากสอนยาก คนที่มีลูกดื้อ ๆ จำให้ดีนะ เคยทำกรรมนี้มาแล้วจะให้พระช่วยได้อย่างไร และ
            กรรมของมุสาวาท เราพูดจริงแต่ไม่มีใครเขาอยากฟัง
            เศษกรรมของการดื่่มสุราเมรัย ทำให้เป็นโรคเส้นประสาท หรือโรคบ้า
            ทีนี้ถ้าอาการทั้ง ๕ อย่างนี้เกิดขึ้น อย่าไปโทษใคร ถ้าเราได้ ยถากรรมมุตาญาณ เราจะทราบ ว่ากรรมประเภทนี้ทำให้เราลำบากเราทำไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ และก่อนที่จะได้รับเศษของกรรมเราได้รับโทษของกรรมใหญ่ที่ไหนบ้าง ลงนรกมากี่ขุม ท่องเที่ยวนรกแสนสบาย มีความสุขมีที่อยู่ที่อาศัย พญายมเอาอกเอาใจ ไม่ต้องการให้พ้นจากนรกนี่ดีมีวาสนาบารมีสูง
            ออกจานรกขุมใหญ่ ออกจากนรกบริวาร ผ่านยมโลกียนรกอีก ๑๐ ขุม ออกจากยมโลกียนรกอีก ๑๐ ขุม ผ่านเปรตอีก ๑๒ ลำดับ จากเปรตมาผ่านอสุรกาย จากอสุรกายมาเป็นสัตว์เดียรัจฉาน กว่าจะเกิดมาเป็นคนที่มีความสมบูรณ์มาก พระพุทธเจ้าตรัสแล้วหลายสิบองค์ อันนี้เป็นกฎของความชั่วที่เราพึงจะรู้ได้ด้วยกำลัง มโนมยิทธิ ที่ญาติโยมพุทธบริษัทปฏิบัติกัน
            ด้านของความดีที่เราจะพึงทราบจาก ปุพเพนิวาสานุสติญาณ เราจะทราบว่าเราเคยเป็นเทวดามาแล้วกี่ครั้ง เคยเกิดเป็นคนมาแล้วเท่าไหร แล้วเคยเกิดมาเป็นมนุษย์มาแล้วเท่าไหร่ ความเป็นมนุษย์ชาติไหนมีความสุขมาก ชาติไหนมีความทุกข์มาก ชาติไหนมีฐานะอย่างไร อย่างนี้เราทราบได้
            ทีนี้ถ้าอยากจะทราบว่าบุญที่เราทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ บุญประเภทนี้จะให้ผลเราขนาดไหน สมมุติว่าถ้าเราตายขณะนี้เราจะเป็นเทวดาหรือจะไปเป็นพรหมหรือจะไปนิพพาน เราพิสูจน์ได้เลย บุญทำวันนี้พิสูจน์วันนี้ได้ว่าบุญวันนี้จะส่งผลไปถึงไหน
            ถ้าจะถามว่าถ้าปุบปับตายจะมีวิมานอยู่ไหม ถ้าเคยทำบุญก่อสร้างเกี่ยวกับการสร้างวัดสร้างศาลา สร้างสาธารณประโยชน์ แม้แต่เขาสร้างโบสถ์ ๑ หลัง เราทำบุญไป ๑ บาท และทำด้วยความเต็มใจ วิมานก็ปรากฏแล้ว คือว่าทำในทันทีวิมานจะปรากฏทันที
            ที่กล้าพูดอย่างนี้ เพราะว่าทุกท่านหรือหลาย ๆ ท่านกำลังเจริญมโนมยิทธิ และก็หลายท่านที่ได้แล้วสามารถพิสูจน์ได้ทันที ก็มาตัดสินใจทำบุญไว้ตั้งแต่เมื่อไหรก็ตามเถอะไม่สนใจ วันนี้หรือก่อนวันนี้ทำบุญเนื่องในการก่อสร้างสาธารณประโยชน์ วิมานจะปรากฏก่อน เราสามารถจะไปดูวิมานได้ทันทีว่าวิมานเราอยู่ที่ไหน
            ทีนี้วิมานนี่อยู่ตามกำลังของบารมีหรือตามกำลังของบุญที่ทำ ถ้ากำลังบุญของท่านถึงขั้น กามาวจรสวรรค์ วิมานก็จะตั้่้งอยู่ที่สวรรค์ กำลังบุญของท่านถึงขั้นของพรหม วิมานจะตั้งอยู่ที่พรหม กำลังบุญความดีของท่านถึงขั้นนิพพาน วิมานก็อยู่ที่นิพพาน คอยอยู่แล้ว ตายเมื่อไรถึงเมื่อนั้น อันนี้พูดถึงผลที่จะพึงได้
            ต่อไปก็ขออธิบายถึงวิธีการปฏิบัติกรรมฐาน ที่บอกไว้แล้ว ๔ หมวด คือ สุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต อันนี้ใช้แนวสมาธิเหมือนกันแต่ใช้กำลังไม่เท่ากัน อันนี้ต้องระวังให้มากนะ กำลังขึ้นต้นไม่เท่ากัน ถ้าใช้กำลังขึ้นต้นผิดไม่มีผล
            สำหรับ สุขวิปัสสโก นี่ท่านเริ่มเจริญสมาธิเล็กน้อยควบคู่กับวิปัสสนาญาณ
            แต่ว่าเรื่องศีลมีความสำคัญมาก ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์สมาธิไม่มีผล อย่างวันนี้ท่านฝึกมโนมยิทธิ หากว่าศีลของท่านไม่บริสุทธิ์มาก่อน หรือว่าท่านไม่แน่ใจในความบริสุทธิ์ของศีล เวลาสมาทานศีลก็ขอให้ตั้งใจสมาทานด้วยความเคารพจริง ๆ ว่าเราจะเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ถ้าหากว่าท่านไม่มั่นใจในศีล พอไปถึงพระจุฬามณี เขาไม่เปิดประตูให้เข้า อย่างนี้ครูผู้ฝึกเขาจับได้แน่
            ศีลดีพอสมควร แต่ไม่มั่นใจ คือศีลบกพร่อง ทางจุฬามณีเขาไม่เปิดประตูให้เข้าเด็ดขาด ทำยังไงเขาก็ไม่ยอมให้เข้า ถ้าเราไม่สามารถจะผ่านจุฬามณีได้ก็ไปที่อื่นไม่ได้เหมือนกัน
            ถ้าหากว่าท่านผู้ใดไม่มั่นใจในศีลของท่านว่าที่ผ่านมาแล้วศีลจะดีพอควรไหม เวลาสมาทานศีลก็จงคิดว่าเวลานี้เราเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ว่านับตั้งแต่เวลาสมาทานไปจนกว่าจะไปจากที่นี้ ศีล ๕ เราไม่มีโอกาสจะขาด ใช่ไหม เราฆ่าใครเขาได้เล่า ลักขโมยใครเขานี้ไม่แน่นะ อย่าไปล้วงกระเป๋าเขานะ บอกว่าผมไม่ลัก แต่ผมล้วงกระเป๋าเขาอย่างเดียว
            เป็นอันว่าทุกคนต้องถือว่าศีลบริสุทธิ์ นี่เป็นพื้นฐานใหญ่
            แล้วเวลาทรงสมาธิ สำหรับสุขวิปัสสโก ก็ใช้สมาธิเล็กน้อยเริ่มต้นควบกับวิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิจริง เขาเริ่มต้นด้วยฌาน ๔ แต่ว่าการเริ่มต้นด้วยฌาน ๔ นี่ลำบาก จึงลดลงเหลือกำลังอุปจารสมาธิเ่ท่าวิชชาสาม
            ฉะนั้นเวลาเริ่มต้นขอทุกท่านใช้กำลังสมาธิแค่อุปจารสมาธิ ถ้าถึงฌานสมาบัติ กำลังสูงเกินไปเลยความเป็นทิพย์ ถ้าต่ำไปก็ไม่ถึงความเป็นทิพย์
            เหมือนกับกำแพงที่มีช่องน้อย ๆ อยู่ช่องหนึ่ง ถ้าเรามองตาสูงกว่าช่องเราก็มองไม่เห็น ต่ำกว่าช่องเราก็มองไม่เห็น เราต้องมองให้พอดี ๆ จึงเห็น
            สำหรับ ทิพจักขุญาณ ก็เหมือนกัน จิตเกิดเป็นทิพย์ ตอนจิตเข้าสู่อุปจารสมาธิเท่านั้น ถ้าจิตเลยไปถึงฌานความเป็นทิพย์ก็ดับ ถ้าต่ำกว่าฌานความเป็นทิพย์ก็ดับ
            ถ้าจะถามว่า อุปจารสมาธิทำอารมรณ์ขนาดไหน ก็ขอตอบแบบตรงไปตรงมาว่าใช้อารมณ์แบบปกติธรรมดา เวลาภาวนาอยู่ การภาวนานี่ต้องคู่กับลมหายใจเข้าออก เพราะว่าลมหายใจเข้าออกทำให้จิตเป็นสมาธิ ทำให้จิตมีกำลัง สมาธิ เขาแปลว่า ตั้งใจ
            สำหรับคำภาวนาใช้ภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ คำภาวนา นะ มะ พะ ธะ ทำให้กำลังจิตเป็นทิพย์ แต่ว่าคำภาวนาทำให้จิตเป็นทิพย์มีหลายสิบแบบ ไม่เฉพาะแต่ นะ มะ พะ ธะ อย่างเดียว
            แต่ว่าที่เลือก นะ มะ พะ ธะ มาใช้ก็เพราะว่าแบบอื่น ถ้าเราสามารถจะรู้ได้ เห็นได้ ไปได้ ไปท่องเที่ยวในภพต่าง ๆ ได้ แต่คนข้าง ๆ ถามไม่ได้ ต้องจบกิจเรื่องนั้นแล้วกลับมาจึงจะคุยกับคนข้าง ๆ ได้
            สำหรับ นะ มะ พะ ธะ นี่ ขณะที่เราไปพบอะไรที่ข้างบน หรือที่ไหนก็ตาม นรกก็ตาม สวรรค์ก็ตาม พรหมโลกก็ตาม คนข้าง ๆ จะถามได้ทันทีแล้วจะตอบได้เลย ทางโน้นตอบมา ฝ่ายนี้ก็พูด พูดรู้เรื่องกันได้ตลอด
            แบบนี้ควานหามา ๒๓ ปี กว่าจะพบ และแบบอื่น ๆ เป็นของไม่ยาก แต่ว่าเป็นเรื่องสงสัยของคน ผู้ถามอยู่ข้าง ๆ ต้องการจะรู้ว่าพ่อฉันตายแม่ฉันตายไปอยู่ที่ไหน หลับตาปี๋อยู่นาน ลืมตามาก็บอก ทีนี้คนข้าง ๆ อาจจะสงสัย หมอนี่อาจจะโกหกก็ได้
            สำหรับ มโนมยิทธิแบบนี้ ปัจจุบันใช้ นะ มะ พะ ธะ คนข้าง ๆ จะถามได้ทันที และก็เราผู้ไม่รู้ ถ้าไปพบคนตาย จะต้องถามก่อนที่ท่านจะตายรูปร่างลักษณะอย่างไร แสดงให้ดูก่อน ร่างกายจะตายอาการแบบไหน ชี้ให้ชัดว่าคนที่ถามเขารู้เวลานั้นเอาเฉพาะอาการที่รู้ เราก็จะบอกได้ตามปกติว่ามันชัดเจนดี เขามีโอกาสซัก ซักได้ทั้งที่ยังไม่ถอนจากฌานแบบนี้มีประโยชน์มาก
            ฉะนั้นเวลาปฏิบัติของบรรดาท่านพุทธบริษัททำอารมณ์ตามแบบปกติ ไม่ต้องทำจิตให้มันเครียดเป็นฌานอย่าลืมนะ ถ้าเป็นฌานไม่มีผล คือใช้คำภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ
            ถ้าจะควบคู่กับลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้าก็นึกว่า นะ มะ เวลาหายใจออกก็นึกว่า พะ ธะ เอาแบบสบาย ๆ นะ อย่าให้เหนื่อย อย่าไปเร่งรัดลมหายใจ อย่าบังคับลมหายใจ อย่าให้เร็วเกินไป อย่าให้ช้าเกินไป ปล่อยลมหายใจไปตามปกติ แค่นึกตามเวลาหายใจเข้านึกว่า นะ มะ เวลาหายใจออกนึกว่า พะ ธะ เอาแค่นี้นะ
            แล้วเลาที่ยังไม่มีใครเข้าไปแนะนำ จงอย่าไปนึกอย่ากรู้ อยากเห็นอะไรเป็นอันขาด เพราะว่าถ้านึกอยากรู้อยากเห็นตอนนั้นจิตซ่านไม่เป็นสมาธิ
            และก็มีปัญหาอันหนึ่งที่บรรดาท่านพุทธบริษัทยังสงสัย เวลาที่ผู้แนะนำเขาปล่อยให้นั่งภาวนาประมาณ ๑๕ นาที ตอนนี้เราก็รู้ลมหายใจเข้าออกด้วย รู้คำภาวนาด้วย จิตก็อดซ่านไม่ได้เป็นของธรรมดา ภาวนาไปรู้ลมหายใจเข้าออกไปสัก ๒-๓ นาทีก็เผลอไปคิดเรื่องอื่นเข้ามาแทน ถ้านึกขึ้นมาได้ก็กลับดึงเข้ามาใหม่
            ถ้าอาการจิตเป็นอย่างนี้ละก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทอย่าเพิ่งคิดว่าเราชั่ว ถือว่าที่เราทำไปนั้นไม่ชั่วแล้วก็ไม่ผิด มันเป็นเรื่องธรรมดาของจิตมันชอบคิดเรื่องอื่น แต่วาถ้าไปคิดเรื่องอื่นแทนที่ ถ้าเรารู้ตัวก็ดึงกลับมาใหม่ ถ้าจิตอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ มันเป็นแบบนี้แหละ เพราะยังไม่ได้ฌานสมาบัติ ถ้าจิตจะทรงตัวจริงต้องเป็น ฌานสมาบัติ
            ทีนี้พอได้เวลาก็จะมีผู้เข้าไปแนะนำโดยตรง วิธีนี้ถ้าปล่อยให้ปฏิบัติธรรมดานะ พระเคยทำมาแล้ว ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง บางองค์ ๔๐ ปีไม่ได้ ตายไปเลย ตายไปเยอะ ไม่ใช่เรื่องเล็กนะ เป็นเรื่องใหญ่มากเดิมทีเดียวต้องขึ้นต้นด้วยฌาน ๔ ทีนี้กว่าจะได้ฌาน ๔ เขี้ยวเหี้ยน กินหญ้าต่อไปไม่ได้แล้ว
            ต่อมาท่านเจ้าของมาแนะนำบอกว่า ปฏิบัติอย่างนี้ (แบบเก่า) มันไม่มีผล เพราะว่ากำลังของคนไม่พอ ท่านก็แนะนำบอกว่า ให้ขึ้นต้นด้วยอุปจารสมาธิ ใช้กำลังของวิชชาสามแทน การใช้กำลังของวิชชาสามแทนนี้ก็อ่อนไปหน่อย การเคลื่อนไหวตัวรู้สึกตัวน้อย ๆ เป็นที่น่าสงสัย
            ถ้าหากว่าใช้กำล้ังเดิม คือกำลังของฌาน ๔ เวลามันออกมันรู้ตัวเหมือนอกจากกระบอกไม้ มันพุ่งตรงออกจากโพรงไม้หรืออกจากถ้าำ มันรู้ตัวเลย ก็จะปรากฏชัดเป็นแสงสว่างในอากาศ แสงสว่างเป็นลำบ้าง เป็นแสงทั่วไปในอากาศบ้าง จะปรากฏเห็นกายข้างในมันพุ่งตรงออก ไปไหนก็มีรู้สึกเหมือนเราไปเอง
            แต่ว่ากำลังแบบนี้เวลานี้ท่านพุทธบริษัทยังรับไม่ได้กว่าจะรับได้ก็ใช้เวลาเป็นเดือนหรืออาจจะเป็นปี ที่สอนมาแล้วระยะต้น เมื่อปี ๒๕๐๘ ได้มาประมาณ ๘๐ คน หลังจากนั้นมาอีก ๑๐ ปี ไม่มีใครได้เลย เพราะกำลังไม่พอ ต่อมาท่านเจ้าของจึงแนะนำบอกว่า ให้ลดกำลังลงเหลือกำลังของวิชชาสาม
            ทีนี้กำลังของวิชชาสามมีสภาพคล้ายความฝัน เป็นที่น่าสงสัย กำลังของวิชชาสามก็คือใช้กำลังของอุปจารสมาธิแทนฌานสมาบัติ
            ทีนี้มาจุดหนึ่งที่บรรดาท่านพุทธบริษัทยังสงสัย คือ คำว่า ทิพจักขุญาณ
            คำว่า ทิพจักขุญาณ นี่ไม่ใช่แปลว่า ลูกตาเนื้อเป็นทิพย์ ญาณ เขาแปลว่า รู้ ทิพจักขุญาณ เขาแปลว่า มีความรู้ทางใจคล้ายตาทิพย์ อย่าลืมนะว่าความรู้สึกทางใจคล้ายตาทิพย์ เพราะว่าเรายังไม่ได้ใช้ฌาน ๔ ถ้าใช้ฌาน ๔ ตัวนี้ไม่ต้องอธิบายเพราะมันออกไม่รู้ตัว เมื่อใช้กำลังของวิชชาสามกำลังลังอ่อนลง ไม่สามารถจะมีความเข้มแข็งแบบนั้นได้ ต้องใช้ความสังเกตเป็นเกณฑ์
            ถ้าหากว่าศีลดี สมาธิดีพอสมควร ไม่มากนักการตัดสินใจด้านพระนิพพานน้อยเกินไป อย่างนี้ทิพจักขุญาณจะเกิดอย่างอ่อน เกิดความรู้สึกของใจ ความรู้สึกทางใจนี่มันจะมีความรู็สึกอันดับแรกว่าเป็นอะไรต้องตอบทันที ตัวแรกเป็นตัวแท้แล้วก็แน่นอน
            และเวลาที่ท่านทั้งหลายจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าทำใจให้สบายคิดว่างานที่เราทำจะมีผลดีหรือผลชั่ว อารมณ์แรกมันบอกปั๊บต้องเชื่ออารมณ์นั้นทันที
            ทีนี้ถ้าหากว่าถ้าอารมณ์มันอ่อน เมื่อเวลามีผู้เข้าไปแนะนำ หลังจากภาวนาไปแล้วประมาณ ๑๕ นาที เขาจะให้สัญญาณบอกว่าพักได้ แล้วต้องสังเกตนะ ถ้าท่านผู้ใดมีคนไปนั่งข้างหน้า เขาจะแนะนำ ขอให้ท่านผู้นั้นเลิกภาวนาเสียเลย อย่าภาวนา แล้วก็เลิกรู้ลมหายใจเข้าออก ปล่อยใจสบาย ๆ เพราะตอนนั้นไปภาวนาไม่ได้ ขวางกัน ให้ฟังคำแนะนำของผู้แนะนำ
            ถ้าผู้แนะนำเขาแนะนำว่ายังไงให้ตัดสินใจไปตามนั้น ถ้าเห็นว่ากำลังใจเริ่มเป็นทิพย์พอสมควร เขาจะถามว่า
            “มีความรู้สึกว่ามีผู้ใดอยู่ข้างหน้าบ้าง...?”
            ไม่ใช่หมายถึงตัวเขา ถ้าสมาธิอ่อน ความรู้สึกมันว่ามีก็ตอบว่ามี อย่ายั้งตัวนะ ถ้ายั้งตัวแน่หรือไม่แน่ ตรงนี้ตัวกิเลสคือนิวรณ์ ตัวสงสัยจะขวางทันที คือผิดหมด ถ้าเราเกิดความรู้สึกครั้งแรกว่ามีก็ต้องตอบว่ามี
            ถ้าเขาถามว่า “ผู้ที่มาอยู่ข้างหน้าเป็นผู้หญิงหรือผู้็ชาย”
            ความรู้สึกมันว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตอบทันที อย่ายั้งตัว ถ้ายั้ง ถอยหลังไม่ได้ ผิด
            ถ้าเขาถามว่าแต่งตัวสีอะไร ก็ตอบตามความรู้สึกถ้าคนข้าง ๆ เขาสีแดง ของเราเขียวก็ตอบเขียวอย่าตามเขานะ เพราะความเป็นทิพย์ของเทวดา พรหม หรือพระอรหันต์ ย่อมสามารถจะทำให้คนเห็นสีต่างกันในขณะเดียวกัน
            ถ้าเป็นอย่างนี้สัก ๒-๓ วาระ ครูเขารับรองว่าถูกต้อง กำลังใจจะดีขึ้น ตอนนี้อารมณ์จิตจะเป็นฌานเอง คำว่าเป็นฌานอย่าไปบังคับมันนะ มันจะเป็นของมันเอง เมื่ออารมณ์จิตเริ่มเป็นฌาน ความสว่างไสวจะปรากฏขึ้นบ้างตามพอสมควร
            ตอนนี้ภาพที่เรามองไม่เห็นจะมีความรู้สึกว่ามีเห็นเป็นผู้หญิงผู้ชายนั่นแหละ มันไม่ปรากฏภาพมาก่อน แต่ความรู้สึกจะเกิดขึ้นกับใจ เมื่อจิตเริ่มเป็นฌานภาพจึงปรากฏขึ้นกับใจ
            หลังจากนั้นไปครูเขาจะแนะนำในการตัดขันธ์ ๕ การตัดขันธ์ ๕ มีความสำคัญมาก คือเอาจิตมุ่งพระนิพพานโดยเฉพาะ คิดว่าถ้าตายชาตินี้ เมื่อตายเมื่อไหรขอไปนิพพานจุดเดียว ตัดสินใจแน่นอนละก็ไปถึงนิพพานแน่
            หลังจากนั้นเขาจะพาไปพระจุฬามณี ซึ่งตั้อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถ้าขั้นถึงจุฬามณีพึงทราบได้เลยว่าขณะนั้นจิตเป็นฌาน ๔ ภาพจะเกิดความสว่างไสวมาก เขาจะพาไปนมัสการพระ ให้เห็นเทวดาหรือพรหม
            หลังจากผ่านพระจุฬามณีแล้วเขาจะพาตรงไปพระนิพพาน ที่เราว่านิพพานสูญนั้นน่ะ เราจะได้ทราบว่านิพพานไม่สูญ ถ้านิพพานสูญก็ไม่มีพระอรหันต์องค์ไหนไปนิพพาน
            นี่พูดถึงว่าสำหรับจิตที่มีกำลังอ่อน แต่ว่ามีมากท่านด้วยกันที่มีความเข้มแข็งทางจิต จิตสะอาดจริง พอเริ่มได้รับคำแนะนำจากครูไม่กี่คำจิตจะสว่างจ้า เห็นภาพชัดเจนแจ่มใสมาก เหมือนกับเห็นคนในเวลากลางวัน เครื่องแต่งกายละเอียดละออเพียงใดก็ตาม ก็สามารถจะเห็นได้
            ฉะนั้น ผู้จะปฏิบัติมโนมยิทธิ ขอให้ตั้งใจ ถ้าสมาทานศีล ขอให้สมาทานศีลด้วยความเคารพ คิดว่าเวลานี้เป็นผู้มีศีล แล้วก็ภาวนา อย่าลืมใช้คำว่าภาวนาว่า นะ มะ พะ ธะ ควบคู่กับลมหายใจ เวลาหายใจเข้านึกว่า นะ มะ เวลาหายใจออกนึกว่า พะ ธะ เวลาภาวนาอยู่จงอย่าอยากรู้อยากเห็นอะไรทั้งหมด จนกว่าจะมีครูเข้าไปแนะนำ

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปัญหาผู้เริ่มฝึกได้แล้วและการฝึกแบบเต็มกำลัง


หลวงพ่อพระราชพรหมยานตอบปัญหา
ปัญหาของผู้เริ่มฝึกได้แล้วและการฝึกแบบเต็มกำลัง
ผู้ถาม:- “ผมเคยชวนคนอื่น ๆ มาฝึกมโนมยิทธิ แต่แล้วเขาบอกว่า พอออกไปแล้ว กลัวใครจะมาทำร้ายร่างกาย มาเผาร่างกาย เรื่องนี้จริงไหมครับ…?”
หลวงพ่อ:- “ไอ้คนที่ได้มโนมยิทธิจริง ๆ ถ้าไปถึงสวรรค์ได้ เขาไม่อยากมองมนุษย์นะ เพราะเมืองมนุษย์มันเลอะเทอะด้วยประการทั้งปวง โลกทั้งโลกมันสกปรก ถ้าแดนสวรรค์ก็มีแก้วกับทอง สวรรค์มีความสุขมีที่อยู่สบาย ถ้าไปถึงพรหม เราก็ไม่อยากไปสวรรค์ เพราะพรหมเขาดีกว่า ถ้าเข้าถึงนิพพานเราก็ไม่อยากมองพรหม
ถ้าบังเอิญเวลานั้นใครทำร้าย หรือจะเอาร่างกายไปเผาเสียก็ดี จะได้ไม่ต้องกลับมา กลัวเขาจะไม่ทำยังงั้นน่ะซิถ้ากลัวตายก็ฝึกวิชานี้ไม่ได้ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเจริญพระกรรมฐาน”

ผู้ถาม:- “มีลูกศิษย์บางคนนะคะ เขาไม่ชอบไปดูของสวย ๆ บนสวรรค์ เขาอยากไปนรก เขาบอกว่า เห็นในสิ่งที่ไม่ดี แล้วจะได้ไม่ทำในสิ่งนั้น”
หลวงพ่อ:- “เออ….ไอ้นี่เหมือนกับฉัน ไปได้ครั้งแรก ปีแรกฉันไม่ไปสวรรค์เลย ไปนรกจุดเดียว นรกนี่ใช้เวลา ๑ ปี ไปไม่ครบนะ นรกจริง ๆ มันมี ๔๐๐ ขุมกว่า ขุมใหญ่มี ๘ ขุม แต่ละขุมมันแยกไปอีก
ไปถึงก็ถามเขา แต่ละขุมเราเคยมากี่เที่ยว แต่ละครั้งที่เรามาทำบาปอะไร เราขอดูภาพเดิม สมัยเป็นมนุษย์เราทำบาปอะไร นรกขุมนี้ลงโทษ แบบไหน ฉันไปทุกขุม ฉันก็ไปถามเขาทุกขุม ลองไล่เบี้ยดู เป็นการลงโทษตัวเอง ปรามตัวเอง
อย่างไอ้หนูนี่คิดถูก ถ้าดูคนอื่นเขาลงน่ะมันไม่มันนะ ต้องดูของตัวเอง ดูว่าในสมัยที่เราเป็นคน เราทำอะไรผิด เราจึงลงนรก บางครั้งเราเป็นคนมีวาสนาบารมีสูง แต่ก็เมาในชีวิต มีอำนาจมากกว่าเขา ก็สร้างความชั่วข่มเหงเขาบ้าง ทำอะไรเขาบ้าง ตายแล้วก็ลงนรก
ต้องขอดูภาพเดิม อย่าดูแต่ภาพนรกเฉย ๆ นะ ดูว่าสมัยเป็นมนุษย์ เราทำอะไรไว้ จึงถูกลงโทษแบบนี้ มันจะได้ประสานกัน ที่สวรรค์ จุดแรกที่ต้องการไปให้ถึง คือ พระจุฬามณี อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ดาวดึงส์กับจุฬามณีนี่ที่เดียวกันใช่ไหมคะ?”
หลวงพ่อ:- “ใช่ ที่เดียวกัน จุฬามณีตั้งอยู่ในเขตของดาวดึงส์”
ผู้ถาม:- “ดิฉันไปกราบท่านพ่อกับท่านแม่ที่ดาวดึงส์ค่ะ แล้วก็ไปนิพพาน”
หลวงพ่อ:- “ก็ได้ คือว่าเราต้องการให้อารมณ์จิตอยู่ที่นั่น ก็ต้องไปกราบทุกวันนะ ฉันก็กราบ ที่เราไปกราบพ่อแม่เพราะอะไร เพราะท่านจะไปนิพพานอยู่แล้ว
พ่อแม่นี่มีความจำเป็นต้องกตัญญู ทางที่ดีพอขึ้นไปที่นั่นแล้ว พอกราบท่านแล้ว ก็ต้องถามท่านว่า มีอีกบ้างไหมที่เป็นบิดามารดาเดิม ที่ยังเป็นเทวดาหรือพรหมอยู่ ขอเชิญมาประชุมหมด แล้วท่านก็จะมาหมดพอมาแล้วก็กราบท่าน เราขอขอบคุณท่าน เราจะได้รู้ว่าพ่อแม่ที่อยู่เป็นเทวดาหรือพรหมมีเท่าไร พ่อแม่ของเราในอดีตมีเยอะ ขึ้นไปแล้วไม่หงอยเหงาแน่ ๆ เพลิดเพลินจนไม่อยากกลับทีเดียว”

ผู้ถาม:- “หนูมีปัญหาอันหนึ่ง คือก่อนนอน ก็ภาวนา นะ มะ พะ ธะ แล้วก็หลับไปเลย มีอยู่วันหนึ่งนะคะ ตอนใกล้เช้าค่ะ มีความรู้สึกว่าไม่ได้หลับ แต่มีความรู้สึกว่า จิตมันจะออกไป แต่ไม่ยอมลอยขึ้นไปข้างบน แล้วอยู่ ๆ ก็ดึงลงไปข้างล่างเลยค่ะ ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากจะให้ลง มันเป็นเพราะอะไรคะ…….?”
หลวงพ่อ:- “ถ้ามันดึงลงข้างล่างก็ให้มันดึงไป ไปเที่ยวนรก ถ้าปล่อยตัวหลุดแบบนั้น เป็นตัวอภิญญาแท้ คือ นะ มะ พะ ธะ ที่เราทำเวลานี้นะ ถ้ามันถึงจุด มันจะออก จุดออกของเขาจริง ๆ มันเหมือนกับตัวเราออกไปเลย มันออกไปจริง ๆ
ทีนี้มันจะดิ่งลง ก็ให้มันลงไป อารมณ์อันหนึ่ง เขาอาจจะบังคับให้ไปดูนรกข้างล่างว่าเป็นยังไง แต่ไปแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะกลับมาไม่ได้นะ กว่าจะกลับก็เช้า
ทีหลังตั้งใจไว้ก่อนว่า ถ้าออกได้จะขอไปพระนิพพาน แล้วไปจะหาแม่ หาปู่ แต่ว่าการตั้งใจไว้ก่อน เวลาภาวนาก็อย่านึกถึงท่านนะ ทิ้งเลย ถ้าออกปั๊บมันจะพุ่งไปเลย ขณะที่ภาวนาเราต้องทิ้งอารมณ์อยากจะไปนิพพาน จะไปหรือไม่ไปไม่สำคัญ แต่ทำใจให้สบายนี่ มันจะไปได้ ซึ่งซ้อมแบบนั้นน่ะดีแล้ว มันจะเคลื่อนได้ดี
ถึงฝึกแบบเต็มกำลังจริง ๆ ออกไปได้จะสนุกมาก เห็นวิมานเยอะแยะ ไม่มืดสลัว เห็นชัดเจนแจ่มใสดีมาก แทบไม่อยากกลับมาทีเดียว”

ผู้ถาม:- “กระผมสังเกตดู อย่างวิมานของหลวงปู่ก็ดี ของพระพุทธเจ้าก็ดี ปรากฏเห็นชัดดี แจ่มใสดี เวลาไม่ต้องการเห็นก็หายไป”
หลวงพ่อ:- “ใช่…ถ้าจิตเราไม่ต้องการเห็น แป๊บเดียวก็หาย มันเป็นไปตามกำลังของจิต แต่ความจริงไม่ใช่วิมานหายนะ จิตเราไม่เห็นเอง ถ้าเราไม่ต้องการ มันก็ไม่เห็น ไม่ใช่เราไปรื้อวิมานเขานะ ถ้าโยมไปรื้อวิมาน เทวดาตีตาย”

ผู้ถาม:- “เรื่องนี้องค์อื่นผมก็ไม่กล้าคุยครับ”
หลวงพ่อ:- “อาตมาไม่เป็นไรหรอกโยม ความจริงพระที่ท่านเข้าถึง ไม่มีองค์ไหนบอกนิพพานสูญ เรื่องของนิพพานมันมีอยู่อย่างนี้ เราจะเห็นได้หรือไม่ได้ มันมีอารมณ์ของจิตตามขั้น ถ้าจิตของเราเป็นฌานโลกีย์ล้วน ไม่มีทางเห็นได้เลย สมมุติว่าเราไม่เป็นพระอริยเจ้าจริง เวลานั้น จิตมันต้องว่างจากกิเลสชั่วเวลาหนึ่ง อันนี้จึงจะเห็นนิพพาน ถ้าตามเกณฑ์ที่จะเห็นนิพพานได้
ถ้าสุกขวิปัสสโกนี่ ท่านไม่เห็นเลยนะ ไม่เห็นผี ไม่เห็นเทวดา ไม่เห็นนรกสวรรค์ ไม่เห็นอะไรทั้งหมด ก็ชื่อว่า ตัดกิเลสได้
ถ้าเตวิชโช เขามีสองในวิชชาสาม คือ ทิพจักขุญาณ กับ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ถ้ายังเป็นฌานโลกีย์อยู่ ทิพจักขุญาณตัวนี้จะไม่สามารถเห็นนิพพานได้เลย จะเห็นได้แค่พรหมโลก นรกทุกขุมเห็นได้ สวรรค์ขึ้นไปถึงพรหมโลกเห็น ถ้าจิตเข้าถึงโคตรภูญาณเป็นอย่างต่ำ อันนี้จึงจะเห็นนิพพาน
ไม่ใช่ว่าทำทิพจักขุญาณได้ จะเห็นอะไรทั้งหมด ถ้าหากว่าเราปฏิบัติกันแล้ว ไปถึงนิพพานได้ แสดงว่าจิตเวลานั้น ว่างพอ สะอาดพอ”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ เวลาขึ้นไปแล้ว แต่ว่าทรงอารมณ์อยู่ไม่นานก็กลับมาใหม่ อันนี้เป็นเพราะเหตุใดคะ ขอให้หลวงพ่อชี้ข้อผิดพลาดด้วยค่ะ…?”
หลวงพ่อ:- “มันไม่ผิดหรอก เวลาตั้งอารมณ์ จิตไม่ตั้งเป็นฌาน เพราะว่าอารมณ์ที่เป็นฌานมันน้อยเกินไป มันเป็นอุปจารสมาธิเสียมาก วิธีที่ฝึกเวลานี้ไม่ใช่ไปแก้จุดนั้น ไปแก้อีกจุดหนึ่ง
เมื่อยามว่างเราควรจะตั้งเวลาสัก ๓ นาที ๕ นาที จับลมหายใจเข้าออก แล้วว่า นะ มะ พะ ธะ เราจะนั่งท่าไหนก็ได้ ให้จิตมันอยู่ช่วงนี้ เฉพาะคำภาวนากับลมหายใจนะ แต่ว่าอาการอย่างนั้นจะมีได้ในบางขณะ บางทีเราเริ่มจับปั๊บ จิตมันตกต่ำลงไปเลย ถ้าหากว่ามันทรงไม่อยู่ ไปแล้วกลับมา พอกลับมาก็ทรงอารมณ์ให้สบาย ไม่ไปไหนละนั่งอยู่ภาวนาให้สบาย ๆ ให้จิตมันเป็นสุขพอ จิตมีกำลังปั๊บ ขึ้นไปใหม่ มันอยู่ได้ ไอ้นี่เรื่องธรรมดา”

ผู้ถาม:- “แต่บางครั้งในขณะที่ครูเขาทดสอบ มีความรู้สึกว่าจะตายค่ะ”
หลวงพ่อ:- “จะตายหรือ ดี คือ มีความรู้สึกว่าจะตาย ถ้ามันจะตายเวลานี้ เราขออยู่ที่นิพพาน”
ผู้ถาม:- “พอมีความรู้สึกว่าจะตายเลยไม่ยอมไป”
หลวงพ่อ:- “ไม่เป็นไรนะ นั่นเป็นอารมณ์อันหนึ่ง ถือว่าเป็นอารมณ์แทรกเข้ามา คือว่ากำลังใจเราจะมั่นคงไหม แต่การแทรกเข้ามารู้สึกว่าจะตาย จะดูว่าเรามั่นใจในพระนิพพานไหม หรือเราจะไปยุ่งกับทุกขเวทนา
ทีนี้ถ้าจิตมันตัด ตายก็ตาย ถ้าตายเราไปนิพพาน แค่นี้เขาก็พอใจแล้ว คือว่าอาการที่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่อาการของร่างกาย เป็นอาการถูกทดสอบจากพระอริยะ ถ้าเวทนาแบบนี้เข้ามา กำลังใจเราเป็นอย่างไร
ถ้ากำลังใจเราตัดสินใจว่า ถ้าเราตายเวลานี้เราไปนิพพานช่วงนี้ และตอนนั้นเราดีดตัวถึงพระนิพพานได้ ลงมาเราก็ไม่เป็นไร ถืออารมณ์อย่างเดียว คือว่า เราห่วงตัวหรือห่วงนิพพาน เขาต้องการเท่านี้แหละ
การเจริญพระกรรมฐาน มักจะมีเทวดา ครูบาอาจารย์และพระอริยะ มาทดลองเสมอ เพราะฉะนั้น อย่าได้กลัว ท่านต้องการให้เราได้ดี”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ตอนที่ฝึกมโนมยิทธินะคะ เมื่อขึ้นไปบนสวรรค์แล้ว เห็นใส่เสื้อผ้าเป็นธรรมดาค่ะ อันนี้เป็นภาพจริงหรือเปล่าคะ..?”
หลวงพ่อ:- “ภาพน่ะเป็นภาพจริง แต่ไม่ตรงความจริง”
ผู้ถาม:- “แล้วยังเห็นคนที่เขาอยู่บนสวรรค์ เขาก็แต่งตัวไม่เหมือนชาวสวรรค์ เราเป็นมนุษย์ ยังแต่งตัวสวยกว่าตั้งเยอะ”
หลวงพ่อ:- “ที่เราเห็นเขาอย่างนั้นน่ะ เขาทำภาพเดิมให้ดู คือว่าเขาเกรงว่าเราจะจำเขาไม่ได้ อันดับแรกเขาต้องแสดงแบบนั้นก่อน ถ้าเราเห็นแบบนั้น เราควรจะถามเขาว่า เวลานี้ภาพความเป็นจริงของท่านมีรูปร่างเป็นอย่างไร ขอให้แสดงความเป็นจริง”
ผู้ถาม:- “อยากถามเขาเหมือนกันค่ะ แต่ดูหน้าตาเขาแล้ว ไม่อยากจะพูดกับเขาเลย ตอนนี้พยายามฝึกให้ได้ฌาน ๔ ก่อนเผื่อจะได้ถอดจิตไปถึงอินเดียบ้าง”
หลวงพ่อ:- “ฌาน ๔ เป็นอย่างไร..?”
ผู้ถาม:- “ไม่ทราบซิคะ”
หลวงพ่อ:- “นี่กินขนมอยู่แล้วยังนึกว่ายังไม่ได้กิน ไอ้การไปสวรรค์ได้ ไปพรหมได้ นี่มันเป็นกำลังของฌาน ๔ ถ้ากำลังไม่ถึงฌาน ๔ มันจะไปถึงจุฬามณีไม่ได้
จำให้ดีว่า ขณะที่เราเห็นภาพครั้งแรก ที่ครูเขาฝึก อันนี้เป็นทิพจักขุญาณ ตอนนี้เป็นอุปจารสมาธิ ถ้าเห็นภาพแล้วภาพเริ่มแจ่มใส ตอนนี้เป็นฌาน แต่ถ้าไม่ถึงฌาน ๔ จะเคลื่อนจิตไม่ได้ ถ้าจิตเคลื่อนไปถึงพระจุฬามณีได้ จงทราบว่าระหว่างนั่นเป็นฌาน ๔ หมด เป็นฌาน ๔ สำหรับใช้งาน”
ผู้ถาม:- “เป็นยังไงคะฌาน ๔ ใช้งาน…?”
หลวงพ่อ:- “ฌานมันมี ๒ ลักษณะ ที่เขานั่งเข้าฌาน นั่งเฉย ๆ เป็นการฝึกให้ฌานมันเกิดขึ้น แล้วก็ทรงฌาน
ทีนี้ฌาน ๔ สำหรับใช้งาน ก็คือ จิตเคลื่อนไปสู่ภพต่าง ๆ หรือไปที่ต่าง ๆ อย่างเรานั่งอยู่ตรงนี้ คนที่นั่งอยู่ข้างหลังคิดอะไรอยู่ เราอยากรู้ เราก็รู้ หรือเขาทำอะไร เราอยากรู้ เราก็รู้ได้ แล้วเป็นฌาน ๔ ประกอบไปด้วยอภิญญา
ถ้าฌาน ๔ เฉย ๆ มันก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าไม่เคยได้อภิญญา
ความจริงถ้าฝึกมโนมยิทธิแบบเต็มอัตรา ที่ฝึกกันนี่ใช้กำลังเพียงครึ่งหนึ่ง ถ้าแบบเต็มอัตรามีสภาพเหมือนฝัน คือไปได้แบบตัวเราไปเที่ยวธรรมดา รู้สึกได้เต็มที่ ก็บังคับให้กำลังภาพมันหยาบหน่อย
ที่เราฝึกนี่ใช้กำลังเพียงครึ่งเดียว คือกำลังที่เราใช้แค่วิชชาสาม เนื้อแท้จริง ๆ ของมโนมยิทธิ ต้องเป็นกำลังของอภิญญา แต่ว่าถ้าจะหันเข้าไปฝึกอภิญญา มันเป็นของไม่ยาก อภิญญาต้องตั้งต้นด้วยกสิณ ๑๐ มี เตโชกสิณ อาโปกสิณ เป็นต้น
แต่ว่าได้มโนมยิทธิแบบนี้แล้ว ก็ใช้จับภาพกสิณได้ทันที เพราะว่าตัวที่ได้มโนมยิทธิ ถ้าเราไปเริ่มต้นกสิณจริง ๆ เราก็ถอยหลังเข้าคลอง คือจับผลของกสิณเลย กสิณถ้ามันได้ผลจริง ๆ มันมีสีเหมือนกันหมด มีสีใสเป็นประกายแพรวเหมือนกันหมด เดิมจะเป็นสีอะไรก็ช่าง
อย่างโลหิตกสิณ (กสิณสีแดง) จับภาพทีแรกมันเป็นสีแดง เขาต้องภาวนา “โลหิตกสิณัง” แต่ว่าถ้าทำไป ๆ สีแดงมันจะกลายจนกระทั่งขาว พอขาวแล้วก็เป็นประกายแพรวเต็มที่ ถ้าจิตมีกำลังถึงฌาน ๔ กสิณจะเป็นประกายแพรว ฉะนั้นกสิณทุกกองจะมีภาพเหมือนกัน เมื่อถึงฌาน ๔ เราจับกสิณก็เป็นประกายให้หมด
ใช้กำลังมโนมยิทธิที่เราได้ จับปลายของกสิณเลย แล้วมันจะคล่องตัว ปลุ๊บ ๆ จับได้หมด จับได้ก็ย้อนไปย้อนมาจนชิน จนกระทั่งอารมณ์เราจะใช้เวลาไหนก็ได้ กำลังปวดท้องขี้เต็มที่จับภาพกสิณก็ได้ ต้องได้จริง ๆ นะ ไม่ใช่ล้อเล่น ต้องได้จริง ๆ จึงจะฝึกอภิญญาได้”

ผู้ถาม:- “ถ้าฝึกอภิญญาได้ ก็แสดงฤทธิ์ได้ใช่ไหมคะ….?”
หลวงพ่อ:- “แสดงฤทธิ์ได้ แสดงไปเดี๋ยวก็หลงตัวเอง ความสำคัญมีอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจว่า สวรรค์มีจริง พรหมโลกมีจริง นิพพานมีจริง พวกเปรต อสุรกายมีจริง ความสำคัญมันมีอยู่แค่นี้เอง
วิชานี้ที่เรามีอยู่แล้วทำเสียให้เต็มที่ ทำให้พอใจ เพราะว่าถ้าเราเป็นมโนมยิทธิเต็มที่ เต็มกำลัง เราก็รู้อะไรทั้งหมด เวลานี้เราก็รู้หมดอยู่แล้ว กำลังอ่อนหน่อยก็ไม่แปลก รู้ได้เหมือนกัน เราก็ใช้กำลังส่วนนี้รู้จักพระนิพพาน จิตก็จับพระนิพพานเป็นอารมณ์มันก็แค่นื้ ที่ทำทั้งหมดก็เพื่อนิพพานอย่างเดียว ไม่ใช่ทำเพื่ออวดชาวบ้าน”

ผู้ถาม:- “ถ้าหากเราฝึกมโนมยิทธิได้แล้ว ต้องการดูกระแสจิตของเราเอง จะได้ไหมคะ?”
หลวงพ่อ:- “ได้…การดูใจเขาดูแบบนี้ คือ ดูแสงสว่างของใจที่มันออกมา กระแสจิตของนักปฏิบัติเป็นสีเนื้อหรือสีเคลือบแก้ว ถ้ายังเป็นสีเนื้ออยู่ ก็แสดงว่า บุคคลนั้นเป็นปุถุชนเต็มอัตรา ถ้าเป็นแก้วเคลือบหนาขึ้นไปทีละหน่อย ๆ จนกระทั่งเป็นแก้วใสสะอาด อย่างนี้ใช้ได้ในด้านสมถภาวนา
ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง ถ้าเป็นประกายแพรวพราว อันนี้เขาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้าจะดีจริง ๆ มันเป็นแสงละเอียด เหมือนประกายแว้บ ๆ เหมือนกระจกน่ะดี แต่ยังดีไม่เต็มที่
ถ้าจะดูว่าอารมณ์จิตละเอียดไหม ถ้าวิปัสสนาญาณมาก จิตจะเป็นประกายมาก ถ้าประกายน้อย จิตมีวิปัสสนาญาณน้อย
ทีนี้กระแสจิตที่ออกมาน่ะ ออกเรียบร้อยดีไหม….หรือว่าลุ่ มๆ ดอน ๆ ถ้ากระแสจิตเรียบร้อยดี อย่างนี้มีหวัง ไม่มีทางพลาดหวังพระนิพพาน ท่านบอกไว้เลยนะ การเห็นกระแสจิต เรียกว่า เจโตปริยญาณ เป็นญาณหนึ่งในญาณ ๘ ถ้าฝึกมโนมยิทธิได้ ฝึกญาณ ๘ ได้ง่ายมาก”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ครั้งแรกที่ฝึกมโนมยิทธิ เวลาที่ขึ้นไปพระนิพพานแล้ว ครูก็จะปล่อยให้นั่งชมบารมีของพระพุทธองค์ พอกลับไปบ้าน ก็นึกถึงภาพนี้อยู่เสมอ บางครั้งจะเห็นว่า ที่ขึ้นไปอีกคน ไม่ใช่ภาพที่เห็นค่ะ?”
หลวงพ่อ:- “ตัวเรามีคนเดียว”
ผู้ถาม:- “แต่ทำไมถึงเห็น ๒ คนเล่าคะ……?”
หลวงพ่อ:- “เห็นได้ เพราะสภาพความเป็นทิพย์ เห็นกี่แสนคนก็ได้ รวมได้เป็นคนเดียวเสียเมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ถ้าใช้มันจะใช้กี่แสนคนก็ได้ ทำงานเหมือนกันหมด ทำงานคนละอย่าง คนหมดโลกนี่ต่างคนต่างพูดกันคนละเรื่อง เขายังทำกันได้ เพราะสภาพความเป็นทิพย์ ไม่งั้นเขาจะเรียกความเป็นทิพย์ทำไม…..?”
ผู้ถาม:- “คือสงสัยค่ะ ปกติเห็นแต่ตัวเราคนเดียว……. “
หลวงพ่อ:- “นี่เขาทำให้ดูอย่างนั้นแหละ อะไรบ้างที่เราผูกพัน เขาต้องสภาวะอย่างนั้นให้ดู ถ้าเราเห็นอย่างนั้น จิตมันก็ผูกพันอยู่กับสิ่งนั้น ถ้าตายปุ๊บมันก็ไปอยู่ที่นั่น ท่านหาทางให้จิตไปอยู่ที่นั่น”
ผู้ถาม:- “บางทีขออาราธนาบารมีท่าน ให้พาไปที่อื่น ท่านก็เกาะหัวจุกไปเลย บางทีก็เกาะพระบาท บางทีก็เกาะบั้นเอว”
หลวงพ่อ:- “จะถามอะไรก็ตาม ถ้าทำให้เราดึงดูดใจ ท่านก็ทำภาพนั้น ท่านใจดีจะตาย โดยมากท่านต้องการให้คนของท่าน อย่างน้อยต้องขึ้นดาวดึงส์ให้หมด (คำว่า “คนของท่าน” หมายถึง ลูกก็ดี หลานก็ดี บริวารก็ดี) เวลานี้คนของฉันไม่มี เพราะว่าตัดสินใจแล้ว เพราะถ้าตัดไปกันหมดแล้ว แสดงว่าไม่ค้าง ถ้ายังค้างอยู่ ยังไปไม่ได้ ก็ไปสมัยพระศรีอาริย์”

      เรื่องการฝึกมโนมยิทธิแบบใหม่นี้ คนที่ไม่เคยฝึกมักจะมีปัญหาถามเสมอ เช่น “ถ้าฝึกไปได้แล้วเวลาจะกลับ กลับยังไง” หลวงพ่อก็ตอบว่า “ให้มันไปได้ก่อนเถอะน่า” ทั้งนี้ก็กลัวว่าไม่ได้กลับ และหลวงพ่อก็ยังบอกอีกว่า
“วิชานี้ เดี๋ยวนี้ เขาเฟื่องหมดแล้ว เขาได้กันเป็นแสนแล้ว เวลานี้ ก็หนักมาก ที่อเมริกา เยอรมันตะวันตก และเริ่มไปไหวตัวที่ ญี่ปุ่น กับ นิวซีแลนด์ ระวังนะ อยู่ประเทศไทย ชาวต่างประเทศจะมาสอนเอา เขาเอาความรู้ไปจากประเทศไทย เขาจะเอาความรู้ของไทยมาสอนคนไทยต่อไป”
ข้อนี้น่าคิดนะครับ เราเป็นคนไทย อยู่ใกล้พระพุทธศาสนา จะเป็นดังสุภาษิตที่ว่า “ใกล้เกลือกินด่าง” บางคนไม่กินแล้วยังว่ากระทบกระเทือนเสียอีก อันนี้ก็ไม่ขอว่ากัน เราถือว่า “ของจริงย่อมทนต่อการพิสูจน์” และเวลานี้ คนที่ได้พิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีเยอะแยะไป โดยเฉพาะผู้หญิง หลวงพ่อเคยบอกว่า
“พวกผู้หญิงนี่คล่องตัวกว่า ผู้ชายเราเสียท่าผู้หญิง แต่อีกพวกหนึ่งก็คือพระ เสียท่าฆราวาส พระนี่เสียท่าจริง ๆ เพราะพระมีศีล ๒๒๗
การฝึกกรรมฐานนี้ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ มันเดินไม่ออก และพระเวลานี้ก็หนักใจเหมือนกัน เพราะเวลานี้ท่านบวชเข้ามาท่านรู้ตัวว่าเป็นพระหรือเปล่าก็ไม่รู้
ถ้าปฏิบัติแบบฆราวาสล่ะ เจ๊ง….สังฆาทิเสส ถ้าผิดเข้าไปแล้ว ไม่มีทางจะได้ฌานสมาบัติ ถ้ายิ่งเป็นปาราชิก ก็ขาดความเป็นพระภิกษุ ส่วนฆราวาสเขาตั้งตัวได้ วันนี้ศีลขาด พรุ่งนี้เขาตั้งตัวใหม่ได้ ใช่ไหม…..
ก่อนที่จะมาเจริญพระกรรมฐาน ศีลบกพร่องหรือไม่เป็นเรื่อง เละเทะมาก่อน พอ เริ่มเจริญพระกรรมฐาน ตั้งใจรักษาศีลทันที ศีลฆราวาส ฆราวาสเขาทำได้ ส่วนพระไม่เหมือนกัน พระถ้าพังแล้วพังเลย
การสอนเวลานี้ เวลาพระเจ้าไปฝึกพระที่มารับการสอนก็รู้สึกหนักใจ แต่บางท่านก็เก่ง บางท่านแป๊บเดียวได้เลย แล้วก็คล่องตัว เพราะศีลเขาบริสุทธิ์ แต่เราก็อย่าไปถือว่าเขาไม่บริสุทธิ์ทุกองค์ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักตำราที่ท่านบอกว่าเป็นเปรียญฯ นั่นแหละ มันก็ ปะ ปะ ใช่ไหม…..
พวกที่เปรียญที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยิ่งเป็นนักเทศน์นี่ร้ายกาจ แต่ท่านที่ดีก็มีนะ ไม่ใช่ว่าจะชั่วทุกองค์ เพราะเคยสัมผัส เคยอยู่ร่วมกันมา แกบวชเข้ามาแล้ว มาเรียนหนังสือ แกไม่ได้นึกว่าแกเป็นพระ ตั้งหน้าตั้งตาจะสอบให้ได้ จะเอาผลนี่ไปแลกกับเปรียญ พวกนี้ก็เป็นอาชีพ ก็ถือว่าเป็น อุปสมชีวิกา อาศัยศาสนาเลี้ยงชีวิต แบบนี้แล้วจะไปได้อะไร ถ้าไปเกาะไอ้พวกนี้
แต่พระที่เป็นเปรียญที่เขาเก่งก็มี เขาดีจริง ๆ น่ะมี บริสุทธิ์จริง ๆ น่ะ อย่าไปนึกว่าเป็นเปรียญแล้วไม่ดีนะ พวกพระราชาคณะที่เป็นเจ้าคุณ ที่เป็นสมเด็จ ที่ไม่เป็นเรื่องก็เยอะ ที่ดีจริง ๆ ก็มาก
เราต้องเลือกดูอีกนะ ดูพื้นฐานของคน คนทุกคนถ้าหาจุดเลวก็มีเลวทุกคน ถ้าหาจุดดีก็มีดีทุกคน ใช่ไหม….จุดบกพร่องมันก็ต้องมี คนก็ต้องมีดี แล้วใครจะเลว ผิดมุมไหนล่ะ……?”

ผู้ถาม:- “อีกพวกหนึ่งครับหลวงพ่อ พวกที่แก่วิทยาศาสตร์ไปอธิบายให้เขาฟัง เขาไม่ค่อยฟังครับ”
หลวงพ่อ:- “พวกแก่วิทยาศาสตร์ดี แต่พวกตุ่ย ๆ วิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยได้ความนะ ให้เขาแก่จริง ๆ น่ะ ไม่เป็นไรหรอก คือว่าเขาจะเรียนสาขาไหนก็ตามเถอะ ถ้าเขาเป็นคนมีเหตุมีผลหน่อยมันไม่แปลก ถ้าจะค้นคว้าแบบไม่มีเหตุไม่มีผลมันอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ใช่ไหม…..เขาจะรู้ได้ว่าบ้านของเขามีถ้วยขนาดไหน มีโถขนาดไหน เขาก็นึกว่าบ้านคนอื่นมีเหมือนกับเขาทุกอย่าง อาจจะมีคนเขามีของดีกว่าก็ได้ ใช่ไหม… ถ้านักวิทยาศาสตร์จริง ๆ เขาเข้าใจอะไรง่าย มีเหตุมีผลดีมาก เจอะบ่อยไป สำคัญไอ้พวกลืมจริง ๆ น่ะซิ”

      ปัญหาในการฝึกมโนมยิทธิ ก็ขอนำมาเพียงเท่านี้ จะคงช่วยให้ท่านทั้งหลายที่ยังไม่ฝึกก็ดี ฝึกแล้วก็ดี คลายความสงสัยลงได้มาก ใครที่ฝึกได้แล้วสามารถไปสอนคนอื่นได้นะ หลวงพ่ออนุญาต และหลวงพ่อแนะนำว่า
“พวกที่ได้มโนมยิทธิแล้วนี่ ถ้าไม่เป็นครูสอนเขาของเรามันจางง่าย พยายามสอนเขา ถ้าเราเริ่มสอนเขา จะได้ระมัดระวังตัวเอง คือเราจะได้ฝึกฝนตัวเอง
การสอนเขามันมีประโยชน์มาก มันได้ ๒ อย่าง ประการที่ ๑ การทรงตัว การคล่องตัว แจ่มใส มันจะเกิดขึ้น ประการที่ ๒ ได้ ธรรมทาน เป็นการเร่งรัดบารมีเดิม ให้มันแจ่มใสเร็วขึ้น เพราะธรรมทานมีอานิสงส์สูงมาก คือว่าผลที่เราจะพึงได้ แทนที่จะ ๑๐ ปี อาจจะเหลือ ๓ ปี อานิสงส์สูงมาก
สอนเขาใหม่ ๆ มันอาจจะงงก็ได้ ถ้าตามทันหรือไม่ทันไม่สำคัญ ให้มีความเข้าใจเรื่องตั้งอารมณ์เอาไว้ เพราะเราผ่านมาเรารู้ใช่ไหม…….. ถ้าเราไปถึงนั่นแล้ว เผอิญเราตามไม่ทัน ก็กวดไปทีหลังได้ ถามความรู้สึก ถ้าเขาไม่รู้สึก ก็แก้อารมณ์ที่ขัดข้องให้
ถ้าเป็นครูเขา สมเด็จฯ ท่านก็จะช่วยมากขึ้น คือว่าเป็นครูสอนเขา ให้ขออาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าโดยตรง บอกว่า การสอนก็ดี การติดตามก็ดี ขอเป็นภาระของพระองค์
บางทีเราจะพูดสิ่งที่เราไม่เคยคิดไว้เลย ถ้าพูดไปนั่น มันเหมาะสมสำหรับบุคคลผู้นั้น ก็ต้องใช้แบบนั้นนะ พอเริ่มก็ขออาราธนาท่าน ขอเป็นภาระของพระองค์ จะเป็นผลดีแก่ผู้ที่รับฝึกต่อไป
สำหรับการฝึกมโนมยิทธิแบบเต็มอัตรา จะลองซ้อม ๆ ที่บ้านก็ได้ แต่เครื่องบูชาครูนี่ขาดไม่ได้นะ มีดอกไม้ ๓ สี ธูป ๓ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม สตางค์ ๑ สลึง ต้องตั้งไว้ทุกครั้งที่ทำการภาวนา หายใจเข้า นะมะ หายใจออก พะธะ เฉย ๆ โดยไม่ต้องการรู้การเห็นอะไร ทำเป็นสมาธิ ถ้ามันจะเต้นจะรำก็ปล่อยมันเลย การเต้นนี่มันจะเริ่มต้นตั้งแต่อุปจารสมาธิ แต่บางคนก็ไม่เต้นเลย พอถึงฌาน ๔ มันก็เลิกเต้น เพราะกำลังของจิตทรงตัว
จะสังเกตได้ ถ้ามันจะมีความสว่าง คือ เห็นจุดข้างหน้าขาวโพลน เป็นทางไปไกล เป็นทางขาวใหญ่ ถ้าเห็นข้างหน้า ก็ลองใช้กำลังใจพุ่งจิตไปตามสายของทางนั้น คิดว่าเราไปละ พอนึกว่าไปล่ะ ถ้ากำลังจิตเราพอ มันก็ไป พอมันออกไปแล้ว มันไม่ใช่ออกไปแบบความฝัน มันจะออกไปแบบชนิดมีสติ สัมปชัญญะสมบูรณ์ เหมือนกับออกจากตุ่มหรือกระบอก หรือเหมือนกับถอดไส้หญ้าปล้องออกจากหญ้าปล้อง ออกไปแล้ว ไปได้ชัด สว่างเหมือนกลางวัน มันจะเหลียวหน้าเหลียวหลังมาดูได้ มาดูไอ้โลกต่าง ๆ จะเห็นตัวเรานี่นั่งโด่อยู่ ดูแล้วก็เป็นคนสองคน”
“ต่อไปถ้าฉันสร้างที่ใหม่เสร็จ จะต้องพักการเดินทางออกต่างจังหวัด จะลองเอาคนที่ได้แล้วนี่แหละ มาฝึกแบบเต็มอัตรา คนที่ได้แล้วนี่ไม่ยาก ได้ใหม่หรือไม่ได้ไม่สำคัญ แต่ถ้าไม่เต็มแบบก็ยังดี ได้ผลเท่ากันนั่นแหละ แต่แบบนี้กำลังสูงหน่อย”
(หลวงพ่อเริ่มฝึกให้แล้ว เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๘ ที่ศาลาสองไร่เป็นเวลา ๑ เดือน)
— คัดลอกจาก หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๒ —
—จบ—
มโนมยิทธิ
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
จัดทำโดย
ศูนย์พุทธศรัทธา

ปัญหาผู้เริ่มฝึกใหม่ๆ


หลวงพ่อพระราชพรหมยานตอบปัญหา
ปัญหาของผู้เริ่มฝึกใหม่ๆ
ผู้ถาม:- “บางคนเขาก็มาปรารภว่า มาครั้งแรกทำไมจึงฝึกไม่ได้…?”
หลวงพ่อ:- “พวกที่ไม่ได้ มันยัง ตั้งอารมณ์ไม่ถูก เขามีสิทธิ์ได้ มาถึงปุ๊บเดียว จะให้มันได้ ความเข้าใจมันยังไม่ดี ที่เรียกว่า ยังไม่เข้าใจ
บางคนก็ใช้ตาดูบ้าง บางคนก็ใช้ฌานหนักเกินไป มันก็ไม่ถูกจุด สูงเกินไปนิด ต่ำเกินไปนิด ก็ไม่ได้ ต้องพอดี ๆ คือว่าตอนจับทีแรก มันต้องอยู่แค่อารมณ์อุปจารสมาธิ เพราะอันนี้เป็นวิชชาสาม พอจับภาพได้ปุ๊บ บังเกิดความมั่นใจ จิตเป็นฌาน”

ผู้ถาม:- “ดิฉันก็เหมือนกันค่ะ เวลามีครูมาสอบถาม ว่าเห็นอะไรบ้างหรือยัง ก็ไม่เห็นอะไรทั้งนั้นเลย ตอบก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่เห็นอะไร ไม่เจออะไร ไม่ทราบว่าจะทำยังไงดี”
หลวงพ่อ:- “อันนี้มันเป็นอย่างนี้โยม มันเป็นอารมณ์ที่ไม่ชินนะ ทีนี้ที่เห็นนั้น เราไม่ใช้ตา มันเป็นกำลังของทิพจักขุญาณ ทิพจักขุญาณเบื้องต้น มันมัวเต็มที แล้วเราก็เห็นว่า เราจะต้องเห็นทางตา
คำว่า ทิพจักขุญาณ แปลว่า มีความรู้คล้ายตาทิพย์ มันเกิดเฉพาะความรู้สึก ไม่ใช่ลูกตาเห็น
นั่นมันเป็นอันดับก่อนที่จะก้าวขึ้น ถ้าตอนนี้เราจับอารมณ์นั้นได้ เมื่อเราจับได้แล้ว ครูเขาสนับสนุนโดยการพิจารณาตัดขันธ์ ๕ บ้าง นึกถึงบารมีของพระพุทธเจ้าบ้าง และทำความรู้สึกเข้าหาพระจุฬามณี ตอนนี้จิตมันจะเริ่มเป็นฌาน ความรู้สึกที่ว่าเห็น มันจะมีความใสขึ้น ดีขึ้น ยิ่งกว่าเดิมหน่อยหนึ่ง หรือบางคนก็ดีมาก
ทีนี้ถ้าหากว่า ความรู้สึกที่ว่าเห็น ที่เราเรียกว่า ทิพจักขุญาณ จะดีมากดีน้อยขนาดไหน มันขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของจิตในเวลานั้น
ถ้าในเวลานั้น ความรู้สึกของจิตมันล้างกิเลสไปได้มากเทียบเท่ากับพระสกิทาคามี หรือพระอนาคามี เฉพาะในเวลานั้นนะ ไม่ได้หมายความว่า เป็นเสียจริง ๆ เลยนะ คือ เวลานั้น จิตมันสะอาดเทียบเท่ากับพระสกิทาคามีหรือพระอนาคามี ความรู้สึกที่เห็นมันชัดมาก การเคลื่อนไหวเร็วมาก ถ้าฝึกใหม่ ๆ ก็อยากเห็นชัดอย่างนี้ละ”

อีกคนหนึ่งอยากเห็นชัดเหมือนกัน ถามว่า
ผู้ถาม:- “ที่หนูทำอยู่เวลานี้ก็พอจะเห็นบ้างแต่ว่ายังไม่ชัด หนูอยากจะไปเห็นชัด ๆ ค่ะ จะทำอย่างไรคะ…?”
หลวงพ่อ:- “ถ้าอยากไปก็แสดงว่าไม่อยากไป ถ้าอยากไปมันเป็นนิวรณ์ คืออุทธัจจะกุกกุจจะ มันคอยตัด อย่าอยากไปนะ ให้ทำแบบสบาย ๆ เราพอใจในผลที่เราได้มาแล้วในตอนก่อน จะได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้ารักษาอารมณ์ให้สว่างอย่างนี้มีผล
อย่าลืมว่าอภิญญาจริง มันยังมีเวลาอีก ๑๙ ปี กำลังอภิญญาจึงจะเข้ามาถึง ตอนนี้อภิญญาเล็ก แล้วก็พยายามฝึกไปเรื่อย ๆ นะถ้าต้องการจะให้เห็นแจ่มใส ให้หมั่นจับภาพพระให้ใส เป็นประกายแก้วอยู่เสมอ วันหนึ่งสักครั้งหนึ่ง ให้เป็นประจำ ก่อนหลับก็ได้ ถ้าทำอย่างนี้ละก็ ท่านบอกว่าถ้าถึงวาระอีก ๗ วันตาย ตอนนั้นจะพบพระหรือเทวดาเป็นประกายใสปลอดโปร่ง และจิตใจจะจับอยู่ในภาพนั้น และวาระนั้นนั่นแหละ จิตใจจะตัดในที่สุด คือ จิตจะตัดเข้าอรหัตผล ตายแล้วไปนิพพานทุกคน ถ้าอยากเห็นชัดละก็ ตายแล้วไปถึงนิพพานชัดแจ๋วทุกคน”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ การนึกปั๊บเห็นปั๊บแต่เป็นภาพเดิม อย่างนี้เป็นสัญญาใช่ไหมคะ.?”
หลวงพ่อ:- “ไม่ใช่ เป็นสัญญาไม่ได้ คือว่าคนที่เขาชำนาญเขาไม่นั่งป๋อหลอหรอก อย่างฉันนึกปั๊บได้เลย บางทีไม่ทันจะนึกละ ไปแล้ว”
ผู้ถาม:- “ขึ้นไปถึงเลยหรือคะ..?”
หลวงพ่อ:- “ไปถึงเลย คือ มันจะเป็นสัญญาไม่ได้ สัญญามันได้แต่นั่งนึกเอา สัญญาก็นั่งจำแต่ภาพ เราเคยเห็นพระพุทธเจ้าในลักษณะไหน เราเคยเห็นวิมานของท่านในลักษณะไหนบ้าง วิมานของเราในลักษณะไหนบ้าง เรานั่งนึก อันนี้เป็นสัญญา
พอเรารวบรวมกำลังใจปั๊บแล้วไป อันนี้เป็นอภิญญา มันไม่ใช่สัญญา”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ หนูนั่งทีไร เห็นไม่เต็มองค์ เห็นแค่เศียร เวลาขึ้นไปข้างบน เห็นวิมาน มีหลังคาสูง ๆ แต่เข้าไม่ได้ค่ะ ทำยังไงหนูจะเข้าไปได้คะ…?”
หลวงพ่อ:- “ตัดสินใจให้มันแน่นอน อารมณ์ไม่เด็ดขาดจริงยังห่วงขันธ์ ๕ อยู่ ยังห่วงร่างกาย ยังห่วงลูกยังห่วงฝาละมี(สามี) อะไรพวกนี้ ยังห่วงอย่างนี้ เข้าไม่ได้หรอก
ถ้าก่อนที่จะขึ้น ต้องตัดสินใจให้มันเด็ดขาด การเห็นภาพไม่ชัด มันบอกได้เลยว่า เราตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่ต้องไปเปิดตำราที่ไหน นี่เป็นเครื่องวัด”

ผู้ถาม:- “แต่ฝึกครั้งแรกขึ้นไปเห็นชัดมากค่ะ…”
หลวงพ่อ:- “วันแรกเขาสอน เราไปตามเขา พอเขาทิ้ง ก็ชักห่วงหน้าห่วงหลัง พอออกไปหน่อย เอ… ไอ้โอ๋ไปไหนหว่า อยู่กับใคร…ก็ยังถือว่าดี
ควรจะตัดสินใจให้มันเด็ดขาด ตอนเช้ามืด ควรจะตัดสินใจไปเลยว่า ชีวิตนี้มันทรงตัวอยู่ขนาดไหน ก็ช่างมันเถอะ ถ้าตายเมื่อไหร่ ขอไปนิพพาน เอาให้แน่นอน ถ้าตั้งอารมณ์ดีจริง ๆ ถ้าตั้งใจแบบนั้น ทีหลังเห็นเต็มองค์ไม่ยาก”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ เวลาฝึกมโนมยิทธิ บางวันก็อารมณ์ดี ขึ้นไปก็เห็นแจ่มใส แต่มันดีเป็นพักๆค่ะ”
หลวงพ่อ:- “อารมณ์ดีเป็นพัก ๆ นี่ถูก คือว่า ที่เป็นพัก ๆ เพราะว่า ร่างกายมันยังเกาะขันธ์ ๕ ถ้าเหนื่อยเกินไป เพลียเกินไป อันนี้อารมณ์จะมัวได้
แล้วก็ประการที่ ๒ ถ้ามันป่วยขึ้นมา มันจะทำให้ประสาทสั่นคลอนนิดหนึ่ง โดยที่เราไม่รู้ตัว อันนี้มัวได้
แล้วก็ประการที่ ๓ รวบรวมกำลังใจยังไม่เต็มที่ ก็ขึ้นเลย อันนี้มัวได้
การใช้กำลังอภิญญานี่ เราจะถือความสว่างมากสว่างน้อยไม่สำคัญ สำคัญว่า กำลังจิตของเรา เข้าถึงจุดหมายปลายทางไหม เขาถือตัวนี้ เป็นตัวสำคัญนะ
เพราะว่าเรายังมีขันธ์ ๕ อยู่ เราจะให้ทรงตัวอยู่เป็นปกติ มันไม่ได้แน่ พระอรหันต์ ยังไม่ได้เลย
บางคนก็มาบ่นให้ฟัง “ฝึกได้แล้ว พอกลับไปบ้าน ก็มืดไปมัวไป” ก็ต้องไปดูว่ามันมืดเพราะอะไร มืดเพราะศีลบกพร่องหรือเปล่า ถ้าศีลบกพร่อง เราเข้าพระจุฬามณีไม่ได้
ถ้าบอกว่ามืดเพราะสมาธิต่ำ ไม่ใช่ ถ้าสมาธิต่ำ มันไม่แสดงอาการของการมืด แต่การเคลื่อนของจิตมันจะช้าลง การมืดหรือสว่างมันอยู่ที่วิปัสสนาญาณ
ศีล เป็นภาคพื้น สมาธิ เป็นกำลังเดินทาง วิปัสสนาญาณ เป็นคบเพลิงสำหรับส่องทาง ทั้ง ๓ อย่างนี้ต้องขนานกัน
แต่ว่าบางทีศีลดี สมาธิดี วิปัสสนาญาณดี แต่ว่าร่างกายไม่ดี อันนี้ก็มืดเหมือนกัน
แต่หลวงพ่อไม่งั้นนะ ถ้าร่างกายไม่ดียิ่งสว่าง เพราะว่าถ้าร่างกายไม่ดี จิตมันจะดีทันที พอเริ่มป่วยนี่ จะป่วยมากน้อยก็ตาม จิตมันจะรวมตัวทันที พร้อมใส่กระเป๋าเตรียมตัวเดินทางใช่ไหม…
จำไว้นะ ไม่ใช่พอป่วยร้องอ๋อย ๆ คือว่า ร่างกายมันจะคราง มันจะร้อง มันจะเจ็บ มันจะปวด มันเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย ไม่ใช่ว่าถือธรรมดา แล้วร่างกายจะไม่เจ็บไม่ปวด อันนั้นไม่ถูก
แม้แต่พระอรหันต์ทุกองค์ท่านก็เจ็บ ท่านก็รู้ว่าร่างกายเจ็บ ร่างกายหนาว ร่างกายร้อน ท่านก็รู้ ร่างกายป่วยไข้ไม่สบาย ท่านก็รู้ แต่ว่าท่านไม่ได้ทุกข์ จิตท่านไม่กังวล ท่านก็รักษาพยาบาล ท่านหิวท่านก็กิน ท่านร้อนท่านก็หาเครื่องเย็น ท่านหนาวท่านก็หาเครื่องอุ่น หาได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น ถ้าหาไม่ได้ก็แค่นั้นแหละ แค่นี้เอง”
หลวงพ่อ:- “เอาละ คงจะพอเข้าใจแล้วนะ ต่อไปนี้เป็น ปัญหาของผู้ฝึกได้แล้ว”

ปัญหาผู้ไม่เคยฝึกมาก่อน


หลวงพ่อพระราชพรหมยานตอบปัญหา
ปัญหาของผู้ไม่เคยฝึกมาก่อน
หลวงพ่อ:- “คำว่า มโนมยิทธิ แปลว่า มีฤทธิ์ทางใจ
มโนมยิทธิ นี่เป็นการเตรียมอภิญญา จะเรียกวิชชาสามตรง ๆ ก็เข้มเกินไป จะเรียกอภิญญาก็ยังอ่อนอยู่ เป็นการเตรียมอภิญญา เตรียมเพื่อรับอภิญญาหก
วิชชาสามจริง ๆ ไปไม่ได้ แต่เห็นได้ นั่งอยู่ตรงนี้ สามารถเห็นเทวดา เห็นพรหม เห็นพระอริยะ สามารถคุยกันได้ นั่งอยู่ตรงนี้ สามารถคุยกับเปรตได้ คุยกับอสุรกายได้ คุยกับพวกสัตว์นรกได้ แต่ก็นั่งอยู่ตรงนี้เอง
ทีนี้สำหรับ มโนมยิทธิ นี่ ก็เป็นอภิญญาทางใจส่วนหนึ่ง ต้องถือว่าเป็นกึ่งหนึ่งของอภิญญา เพราะว่าสามารถเอาจิตไป เอากายในไป
ทว่า ถ้าเป็นอภิญญาจริงๆ เขายกตัวไปเลย จะไปสวรรค์ไปพรหม เขาเอาตัวไปเลย นั่นต้องใช้กำลังเข้มแข็งกว่า สูงกว่า แต่ว่ากันโดยผล มีผลเสมอกัน เพราะไปเห็นมาได้เหมือนกัน”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ถ้าอย่างดิฉันต้องการฝึกบ้าง ต้องใช้เวลากี่วันคะ….?”
หลวงพ่อ:- “ก็สุดแล้วแต่คุณจะทำได้ ถ้าคนทำได้เร็วไม่ถึงวันก็ได้ อันนี้จริง ๆ นะ ถ้าทำได้เร็วใช้กำลังใจถูกต้อง โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิงนี่จะได้เร็วมาก เพราะพวกผู้หญิงนี่ไม่ค่อยสงสัย เพราะตัวสงสัยเป็นตัวนิวรณ์
ส่วนใหญ่จริง ๆ พวกผู้หญิงนี่ มักจะเป็นได้วันแรก นี่พูดถึงส่วนใหญ่นะ แต่พลาดมาวัน ๒ วันที่ ๓ ก็มี ใช้เวลาไม่มากหรอก เราไม่ต้องนับเดือน ไม่ต้องนับปีกัน
ถ้าคุณจะฝึก คุณต้องไปซ้อมกำลังใจเสียก่อน ถ้าซ้อมกำลังใจให้ทรงตัว มาวันแรกก็ได้ มันอยู่ที่ความเข้าใจ คือ ไม่ต้องทำอะไรมาก ทรงอารมณ์ไว้เฉย ๆ หายใจเข้า นึกว่า “นะ มะ” หายใจออก นึกว่า “พะ ธะ” ไม่ต้องทำให้มันเครียดหรอก ให้มัน ชิน เท่านั้นเอง
คำว่า “ชิน” หมายความว่า ถ้าให้เราภาวนาอย่างนี้เมื่อไร เราภาวนาได้ ไม่ต้องไปนั่งเครียดทั้งวันทั้งคืน ซ้อมให้ทรงตัวนะ”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ อย่างเรามีความศรัทธาจะฝึก มโนมยิทธิ เรามีความจำเป็นไหมคะ ที่เราจะต้องรู้รายละเอียดในความหมายของคำภาวนา นะ มะ พะ ธะ
หลวงพ่อ:- “ก็ไม่ต้องไปละ อยู่ที่เดิมน่ะ ถ้าฉลาดแบบนั้น ไปไหนไม่ได้ เขาให้ภาวนา เพื่อเป็นกำลังของสมาธิเท่านั้น เขาไม่ต้องใช้ปัญญา ปัญญาเขาใช้ส่วนอื่น ถ้าขืนฉลาดแบบนั้นก็อยู่ที่เดิม
การเจริญพระกรรมฐาน เขาต้องไปตามจุด ต้องเฉพาะกิจที่เขาจะสอน ให้แจกแจงนั่น ต้องปฏิบัติในธาตุ ๔ เขาเรียกว่า จตุธาตุววัตถาน ๔ แต่อันนี้ไม่ใช่
เขาต้องการภาวนา เพื่อเป็นกำลังของจิต เพื่อให้จิตเป็นทิพย์ ชื่อเหมือนกัน แต่ใช้กิจต่างกัน
อย่างกับทัพพีเขาใช้คนหม้อข้าว เป็นทัพพีสำหรับหุงข้าว ถ้าเขาไม่มีช้อน เอามาตักข้าวเข้าปาก นี่มันกลายเป็นช้อนไป ใช่ไหม…..
นี่ก็เหมือนกัน ต้องใช้เฉพาะกิจของเขา ถ้าเรื่อยเปื่อยไปก็พัง รับรองได้เลย ถ้าเรื่อยเปื่อยไป นอกรีตนอกรอย อีกแสนชาติก็ไม่ได้ ต้องฉลาดพอดี ไม่ใช่ฉลาดเกินพอดี กิจอันนี้เขาทำเพื่ออะไร ถ้าเราจะแจงเป็นธาตุ ๔ ก็ไม่ใช่ลักษณะนี้ นั่นต้องหวลเข้าไปหาสุกขวิปัสสโก ไม่ใช่ฉฬภิญโญ หมวดแต่ละหมวดของกรรมฐาน ปฏิบัติไม่เหมือนกัน

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ บางคนเขาภาวนาว่า “พุทโธ” แต่ว่าทำไมเขาไปได้คะ….?”
หลวงพ่อ:- “ถ้าเขาไปได้แล้ว อะไรก็ได้ ให้มันสตาร์ทติดเสียก่อน ถ้าไปได้แล้วจริง ๆ ไม่ต้องภาวนา นึกปั๊บมันถึงเลย กำลังเขาพอ เข้าใจไหม…..
คือว่า คำภาวนาที่เราใช้กันหนัก เพราะเรายังไม่คล่อง แบบเขียนหนังสือน่ะ อ่านหนังสือวันแรก สองวัน สามวัน เขียน ตัว ก.ไม่ได้ ถ้าเขียนคล่องแล้ว นึกเมื่อไรเขียนได้เลย ใครเขาพูด ก็เขียนได้เลยเหมือนกัน ถ้าคล่องจริง ๆ ไม่ต้องภาวนา พอนึกปั๊บมันถึงทันที

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ บทสตาร์ทนี่ ต้อง “นะ มะ พะ ธะ” อย่างเดียวหรือคะ “สัมมาอรหัง” ได้ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ:- “เอาแล้ว หาเรื่องตกร่องอีกแล้ว มันมีหลายสิบบท ไม่ใช่บทเดียว แต่ว่าบทนี้เท่านั้น ขณะที่ไปอยู่จึงจะคุยกับคนข้าง ๆ ได้ นอกนั้นเขาไปเงียบ จบจุดแล้วจึงมาเล่าสู่กันฟัง ฉันคิดว่า ถ้าไปกันเงียบ ๆ ชาวบ้านเขาจะหาว่าโกหก ฉันจะตัดตัวนี้ คือปัจจุบัน เห็นแล้วคุยได้เลย ถามทางโน้นก็บอกทางนี้ได้ทันที เขาต้องการอย่างนี้
ฉันยังจำคำแนะนำของหลวงพ่อปานได้ เมื่อก่อนฉันจะบวช ฉันบวชนี่ ฉันไม่ได้บวชตามประเพณีกับเขา บวชเพื่อพิสูจน์พระศาสนา พระศาสนาว่า สวรรค์มีจริง นรกมีจริง ฉันจะไปเที่ยว
หลวงพ่อปานท่านบอก ความต้องการของแกน้อยไป ข้าต้องการมากกว่านั้น แต่ว่าแกบวชแล้ว แกต้องรับคำสอน อย่างคนโง่ นะ
อย่างคนโง่” ก็หมายความว่า ท่านบอกตรงนี้ จุดไหน ก็ไปแค่นั้นแหละ เดี๋ยวก็ถึง อันนี้ถูกต้อง เพราะท่านรู้จักทาง ท่านก็นำตรง ถ้าเราฉลาดเกินไป ก็เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาอีก ฉันอยู่กับหลวงพ่อปานเดือนเดียว ฉันได้หมด เพราะฉันยอมโง่
อย่างลูกสาวของฉันนี่ มันฉลาดมากเกินไป อย่างนี้เขาเรียกว่า “ฉลาดหมาไม่กิน” ใช่หรือเปล่า…?”
ผู้ถาม:- “ใช่ค่ะ”
หลวงพ่อ:- “ถ้าหมากิน เอ็งหมดไปนานแล้ว”
หลวงพ่อพูดให้กำลังใจว่า:- “ค่อย ๆ ทำไปนะ ไม่ต้องใช้เวลาให้มาก ไม่ต้องไปใช้เวลาที่สงัด นั่งเล่นทำอะไรเล่นก็ตาม นึกอะไรก็ภาวนา หายใจเข้านึก “นะ มะ” หายใจออก นึกว่า “พะ ธะ” สองสามครั้งก็ได้ ถ้ามันฝืนขึ้นมาก็เลิกกัน ต้องการให้อารมณ์ชินอย่างเดียว เวลาเขาฝึกจะได้ไม่แย่งกัน ให้แยกกันเสียให้เด็ดขาด
ยามปกติเราต้องการความสุข เราภาวนา “พุทโธ” ของเราไป แต่บางขณะเช่นเวลานี้ ฉันจะเอา “นะ มะ พะ ธะ” ไม่ยอมให้ “พุทโธ” มาแย่ง ไม่กี่วันหรอก อย่างมากก็ ๒-๓ วัน
ถ้าลองจนชินดีแล้ว เราต้องการภาวนา “นะ มะ พะ ธะ” ก็ให้อยู่แค่ “นะ มะ พะ ธะ”พุทโธให้แยกไป ถ้าเราต้องการภาวนา “พุทโธ” ก็ “พุทโธ” ไปตามปกติ อันนี้ก็ใช้ได้
ค่อย ๆ ทำไปนะ อยู่ที่ความเข้าใจตัวเดียว ใครจะคุมหรือไม่คุมไม่สำคัญ ต้องภาวนาถูกต้องตามแบบเขา ไม่งั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่วางแบบไว้ซิ ถ้าภาวนาอย่างไรก็ได้ พระพุทธเจ้าจะวางแบบไว้ทำไม สอนเสียอย่างเดียวก็พอใช่ไหม….”
“พุทโธ” น่ะเป็นสายของสุกขวิปัสสโกเขา สายสุกขวิปัสสโก ไปไหนไม่ได้ ได้แต่ตัดกิเลส สายเตวิชโชก็มีคำภาวนาตั้งหลายสิบแบบ แต่ถ้า “นะ มะ พะ ธะ” เป็นการเตรียมเพื่ออภิญญา จึงไปได้
กรรมฐานไม่ใช่ว่าทำอย่างเดียว แบบจริง ๆ มี ๔๐ แบบ ถ้าเราใช้อะไรก็ใช้แบบที่ถูกต้อง ไม่งั้นไปไม่ได้”

ผู้ถาม:- “สมมุติว่าหนูฝึก “พุทโธ” หลวงพ่อจะฉุดหนูไปได้ไหมคะ…..?”
หลวงพ่อ:- “ได้ ฉุดลงใต้ถุนไป ไม่มีทาง จะฉุดได้ยังไง พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ฉุดใคร หลวงพ่อจะไปฉุดเอ็งเข้า ดีไม่ดี เขาจะมาตีเอาตาย โทษหนักเสียด้วย โทษถึงประหารชีวิต เรื่องอื่นยังพอทำเนา บรรเทาโทษได้ แต่ว่าเรื่องนี้ประหารชีวิตกันเลยนะ หนอยแน่……..
ไม่ได้หรอก ไอ้หนู ต้องฝึกเอง แล้วทำไมภาวนา “นะ มะ พะ ธะ” ไม่ได้..?”
ผู้ถาม:- “รู้สึกว่ามันเหนื่อยคะ”
หลวงพ่อ:- “แล้วที่ด่าชาวบ้าน ทำไมทำได้ล่ะ…?”
ผู้ถาม:- “หนูไม่เคยด่าใครคะ ครั้งเดียวไม่เคยค่ะ…”
หลวงพ่อ:- “น่ากลัวไปล่อหลายเที่ยว”
ผู้ถาม:- (หัวเราะ)
หลวงพ่อ:- “ไอ้นี่ต้องคิดซิว่า “พุทโธ”เหมือนกับนั่งอยู่กับบ้าน ถ้าเราจะไปอเมริกา เดินไปมันก็ไม่ไหว ก็ต้องขึ้นเครื่องบินไป แบบ “นะ มะ พะ ธะ” เขาฝึกเพื่อหาเครื่องบินไป
การฝึกในพระพุทธศาสนา เขามีตั้ง ๔ ประเภท ถ้าแบบใหญ่จริง ๆ มี ๔๐ แบบ แบบย่อยอีกนับพัน
อย่าง “นะ มะ พะ ธะ” เป็นส่วนหนึ่งของ อภิญญา แต่ก็ยังไม่เข้าถึงอภิญญาจริง ต้องถือว่าเตรียมเพื่ออภิญญา นี่เขามีจำกัดนะ แต่ว่าการปฏิบัติแบบนี้ เขาก็มีหลายสิบแบบนะ ถ้าเป็นแบบเก่า คนข้าง ๆ ถามไม่ได้ ฉันก็ไม่อยากสอนใคร
ฝึกแบบนี้ ถ้าไปได้ คนข้าง ๆ สามารถถามได้ตลอดเวลา ไปถึงไหน ๆ เล่าได้ตลอดเวลา ถ้านอกจากนี้ ไปก็นั่งเงียบอยู่คนเดียว เลิกแล้วกลับมาจึงเล่าสู่กันฟัง อย่างนี้ฉันว่าของเก่านั้นของดี แต่ว่าพวกที่เขามีความสงสัย ก็จะคิดว่าพวกนี้มาโกหก
จึงไปหาแบบนี้มา แบบนี้ก็ไม่ได้สร้างเอง เป็นของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน คนข้าง ๆ สามารถถามได้ เวลานี้ไปถึงไหน แล้วจะบอกได้ตลอดเวลา หาอย่างนี้มา ๒๓ ปี กว่าจะพบตำรานี้ ไม่ใช่ค้นคว้าเองนะ ทราบอยู่ว่าของพระพุทธเจ้าท่านมี แต่ตำราที่เราฝึก เราไม่พบ กว่าจะพบก็สิ้นเวลาบวชไป ๒๓ ปี
แต่ว่าวิธีอื่นน่ะทำได้ ถ้าเพื่อส่วนตัวนี่ ทำได้ตั้งแต่พรรษาต้น แต่ว่าเราจะรู้ เราก็ต้องรู้คนเดียว เลิกมาแล้วจึงมาเล่าสู่กันฟัง ทีนี้สำหรับคนรับฟัง ก็จะหาว่าโกหก
อย่างสมมุติว่า พ่อเขาตาย แม่เขาตาย เขาถามว่าพ่อแม่เขาอยู่ที่ไหน ตามผีนี่ตามง่ายกว่าตามคน ต้องการจะพบใคร มันพบทันที ถ้าเราจะเอาให้แน่นอน เมื่อพบแล้วก็ให้เขาแสดงตัว
เวลาที่เป็นมนุษย์รูปร่างเป็นอย่างไร แสดงให้ดูซิ เวลาป่วยยังไง ผอมหรืออ้วน อาการป่วยที่คนพอจะรู้ได้ ขอให้บอก พวกที่เขาถาม เขารู้ว่าเคยป่วยแบบไหน เขาอาจจะไม่รู้ทั้งหมด รู้จุดใดจุดหนึ่งนะ เขาจะบอกให้ฟัง
ถ้าถามถึงโรค มีอยู่หลายราย เขาบอกว่า ที่หมอหรือพยาบาลบอกว่าตายด้วยโรคนั้น ๆ จริง ๆ มันไม่ใช่ เขาตายอีกโรคหนึ่ง แต่พยาบาลเขาเข้าใจว่าโรคนั้น
นี่เราต้องถามอาการที่คนอื่นจะรู้ เขาทำท่าให้ดูเสร็จเรียบร้อย แล้วก็บอกคนข้างๆว่าพบแล้ว เวลาที่มีชีวิตอยู่ รูปร่างเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม…… และอาการที่จะตายจริง ๆ มีลักษณะแบบนี้ใช่ไหม….. คนนี้สมัยที่มีชีวิตอยู่ เป็นคนใจดี หรือชอบหัวเราะ หน้าบึ้งขึงจอ อะไรก็ตาม ถามเขา เขาบอกตามความจริงทั้งหมด
คงเข้าใจแล้วนะ สำหรับท่านที่ยังมีความสงสัยในคำภาวนาและการฝึกแบบนี้ แต่ก็คงจะสงสัยอย่างอื่นอีก จึงขอนำปัญหาและคำตอบให้คลายสงสัยเสีย”

ผู้ถาม:- “หลวงพ่อคะ ถ้าหากฝึกมโนมยิทธิสามารถขึ้นไปข้างบนได้แล้ว จะหลงวกวนอยู่บนนั้นไหมคะ…?”
หลวงพ่อ:- “แหม…อีหนูเอ๊ย อยากให้หลงจริง ๆ ถ้ามันไปติดอยู่วิมานใดวิมานหนึ่ง แหม…ดีจริง ๆ”
ผู้ถาม:-(หัวเราะ) “ไม่หลงใช่ไหมคะ…?”
หลวงพ่อ:- “ไม่หลงหรอก”
ผู้ถาม: “แล้วที่ครูเขาแนะนำว่าไปที่วิมาน วิมานอยู่ที่ไหนคะ……….?”
หลวงพ่อ:- “ถ้าเราไปถึงพระนิพพานได้ วิมานบนพระนิพพานก็ต้องมี เมื่อไปถึงนิพพานได้ เขาจะบอก ๒ จุด เพราะว่า ครูเขาไม่มีเวลาสอนมาก ถ้าเราขึ้นไปบนสวรรค์ ดูวิมาน ของเรามีไหม…..ถ้าไม่มีก็ไปดูวิมานของเราที่พรหมมีไหม…..ถ้าไม่มีก็เหลืออยู่แห่งเดียวที่นิพพาน แสดงว่าชาตินี้ตายแล้วไปนิพพานแน่
ถ้าหากว่าวิมานที่สวรรค์ยังมีอยู่ หรือยังมีอยู่ที่พรหม และวิมานที่นิพพานมีอยู่ แสดงว่า จิตเราจับวิปัสสนาญาณได้เล็กน้อย แต่มันหมองมันไม่แจ่มใส แต่วิมานเราอยู่จุดที่แน่นอน อันนี้แจ่มใส
ถ้าวิปัสสนาญาณเราดีพอ จิตเราเข้าถึงโคตรภูญาณ วิมานข้างล่างนี่จะหายหมด มันจะเหลือหลังเดียวข้างบน ถ้าเหลือหลังเดียวข้างบน ตายแล้วมันไม่มีที่อยู่ ต้องไปอยู่หลังนั่นแหละ
ถ้าพอถึงนิพพานแล้ว ยังถามว่าไปไหนอีก ถ้าอารมณ์ใจยังพอใจในการเที่ยว ก็แสดงว่ากิเลสยังหนาอยู่ ถ้าเที่ยวไป ๆ ไม่ช้ามันจะเบื่อเที่ยว จิตมันจะรักอารมณ์อยู่จุดหนึ่ง คือ ขึ้นไปนิพพานมันก็ไม่อยากขึ้น มันอยากจะตัดขันธ์ ๕ สบาย ๆ อารมณ์จิตเป็นสุข
แต่ก็มีเกณฑ์บังคับว่า นิพพาน ต้องไปทุกวัน เพื่อให้จิตมันจับเป็นเอกัคคตารมณ์ แปลว่า จิตมันเป็นหนึ่งเดียว ต้องการอย่างเดียว คือ นิพพาน ให้มีความผูกพัน
แล้วไปนิพพานไปที่ไหน….?
นิพพานมี ๒ จุดที่เราจะไปก็คือ ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและก็วิมานของเรา ถ้าเราไม่เห็นพระพุทธเจ้า เรานึกถึงท่าน ท่านจะมาทันที คือว่า จิตอย่าปล่อยพระพุทธเจ้า ให้จิตมันเกาะไว้เป็นอารมณ์ ทีนี้ตายแล้วก็มาที่นี่แหละ
เรื่องของชีวิต มันจะตายเมื่อไรก็ช่าง คือว่าอย่าไปคิดว่ามันจะอยู่อีก ๒ ปี ตื่นขึ้นมา เราคิดว่าเราอาจจะตายวันนี้ มันถึงจะถูก อันนี้เป็น มรณานุสสติกรรมฐาน ใช่ไหม……
ถ้าวันนี้มันจะตายมันจะไปไหน ตื่นขึ้นมาปั๊บ เราคิดว่าเราจะตายวันนี้ จิตพุ่งปรู๊ดขึ้นนิพพานเลย ขึ้นไปแล้ว สัก ๒-๓ นาทีก็ช่าง ให้อารมณ์มันสดชื่น พิจารณาขันธ์ ๕ เท่านั้นแหละ
ถ้าจิตตอนเช้า เราจับเป็นอารมณ์ไว้ แล้วกลางวัน เราก็ไม่ได้นึกถึงนิพพาน มัวนั่งพูดกับเพื่อนบ้าง ทะเลาะกับเพื่อนบ้าง ขัดคอกับเพื่อนบ้าง หลบหน้าเจ้าหนี้บ้าง ตามเรื่องตามราวนะ บังเอิญตายวันนั้น มันก็ไปนิพพาน เพราะตอนเช้าเราตั้งอารมณ์ไว้แล้วใช่ไหม…..
คืออารมณ์ตอนเช้า เวลาที่จิตมันสบายตั้งอารมณ์ไว้เลย ตั้งอารมณ์ไว้ ก็อย่าตั้งไว้เฉย ๆ ไปเลย ไปนั่งอยู่ข้างหน้าพระพุทธเจ้าให้จิตมันชื่นใจ เวลานั่งข้างหน้าพระพุทธเจ้ามันสบายใจ ใช่ไหม……..ท่านสวย ท่านสว่าง ดูแล้วไม่อิ่มไม่เบื่อ อารมณ์มันก็มีความสุข คิดว่าที่นี่เป็นที่ที่เราจะมาในเมื่อขันธ์ ๕ มันพัง ให้ทำแบบนี้นะ”

ผู้ถาม:- “แล้วอย่างสมมุติว่า คนที่เขาฝึกได้แล้ว เขาไปได้ เขาก็เห็นวิมานของเขา แสดงว่าเขามีวิมานอยู่ ถ้าหากเราอยู่อย่างนี้ เราทำแต่ความดี เราจะมีวิมานไหมคะ……?”
หลวงพ่อ:- “เราก็มีบ้านอยู่”
ผู้ถาม:- “หนูอยากมีวิมานค่ะ”
หลวงพ่อ:- “ไปสร้างกุฏิสักหลังซิ”
ผู้ถาม:- “มีจริง ๆ หรือคะ?”
หลวงพ่อ:- “วิมานน่ะ เขามีด้วยกันทุกคน ถ้าทำความดี แต่ว่าเราจะสามารถไปเห็นวิมานของเราหรือไม่ อย่างการก่อสร้าง วิหารทาน สร้างโบสถ์ สร้างกุฏิ สร้างส้วม สร้างศาลา อะไรก็ตามเถอะ เราเอาเงินไปร่วมกับเขาด้วยความตั้งใจจริง วิมานจะปรากฏเลย เราจะรู้หรือไม่รู้อยู่ที่การฝึกจิต อย่างที่เขาฝึก “นะ มะ พะ ธะ” กัน”
หลวงพ่อ:- “เอาล่ะ สำหรับปัญหาผู้ยังไม่เคยฝึกก็มีเท่านี้ ต่อไปนี้เป็นปัญหาของผู้เริ่มฝึกใหม่ ๆ